>>>3 วัดสำคัญเมือง พิษณุโลก

ไม่ว่าจะมาวันไหนคนก็แน่นขนัด เสมอ

3 วัดกลางเมือง ที่ พิษณุโลก (วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร,วัดนางพญา,วัดราชบูรณะ) สวัสดีครับ ผม แมว มน. คนเล่าเรื่องหน้าใหม่ ผมเป็นคนปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ แต่มีบุญได้มาเรียนที่เมืองสองแคว จ.พิษณุโลก เมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนานแต่ครั้งมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีถึงขนาดว่าเคยมีฐานะเทียบเท่าเมืองหลวงในช่วง กรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียวแหม! ไม่น่าเชื่อใช่มั๊ยล่ะครับ ว่าเมืองสองแควจะมีความสำคัญมากขนาดนี้เหตุการณ์สำคัญๆในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กับเมืองพิษณุโลกนั้นมีอีกมากมาย หลายเรื่อง อย่างเช่นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงเสด็จมาออกผนวช ณ วัดจุฬามณี แห่งเมืองสองแคว อยู่นานถึง 8 เดือน แล้วพระองค์ก็ทรงประทับอยู่ที่นี่นานถึง 25 ปีเลยทีเดียวหรือจะเป็นเหตุการณ์ที่ พระวิสุทธิกษัตรี พระมเหสีในพระมหาธรรมราชา ได้ทรงให้ประสูติพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ณ พระราชวังจันทน์ กษัตริย์ที่ทรงกอบกู้เอกราชคืนกลับมาให้กับคนไทย และทรงแสดงแสงยานุภาพตีรุกไล่ข้าศึก ไปจนต้องถอยหนีจากเมืองหงสาวดี ไปยังเมืองตองอู กษัตริย์ที่ทำให้เมืองไทยว่างเว้น จากสงครามกับอริราชศัตรู ไปนานกว่าร้อยปี พระองค์ คือ “พระบาทสมเด็จพระนเศวรมหาราช” อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ “อะแซหวุ่นกี้” แม่ทัพพม่าที่ถูกยกย่องว่า เก่งกาจเป็นที่สองในประวัติศาสตร์ชาติพม่า รองจากผู้ชนะสิบทิศ บุเรงนอง เพราะเคยยกทัพไปเอาชนะกอทัพจีนอันเกรียงไกรได้ เข้ามาล้อมเมืองสองแควเอาไว้ แต่ตีหักเอามิได้ จึงร้องขอเชยชมหน้าตาแม่ทัพที่คุมกองไทย ซึ่งก็คือ พระยาจักรี ที่ต่อมาก็คือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีนั่นเอง ในครั้งนั้น เมื่ออะแซหวุ่นกี้ได้เห็นพระยาจักรีก็ทำนายทายทักเอาไว้ว่า ให้รักษาเนื้อรักษาตัวไว้ให้ดี ต่อไปภายภาคหน้าจะได้เป็นใหญ่เป็นโต… แหม… ว่าไปซะยืดยาวเลย มาเข้าเรื่องซะทีดีกกว่า วันนี้ผมจะมาเล่าถึงวัดสามวัด ที่อยู่กลางเมืองพิษณุโลกให้ทุกท่านได้ฟังกัน วัดสามวัดนั้นก็ได้แก่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร(วัดใหญ่),วัดนางพญา,วัดราชบูรณะ วัดสามวัดนี้ตั้งอยู่ใกล้กันมากห่างแต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรู้จักเพียงแค่วัดพระศรีมหาธาตุ หรือวัดใหญ่ ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช เท่านั้น ส่วนวัดนางพญา,วัดราชบูรณะนั้น จะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแวะเข้าไปเที่ยวชมซักเท่าไหร่ หรือเรียกว่าแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ผมเลยอยากจะเอาเรื่องวัดทั้งสาม นี้มาเล่าสู่กันฟัง… วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่คนพิษณุโลกมักเรียกกันว่า “วัดใหญ่” ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามเป็นเลิศที่สุดในโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย บานประตูพระอุโบสถ ประดับมุก ที่ทางเข้าพระวิหารด้านหน้า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ ด้านหน้าพระอุโบสถมี วิหารพระเหลือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก ที่เอานำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อขึ้น ชาวพิษณุโลกเชื่อกันว่า หากได้มากราบพระเหลือแล้ว จะมีเงินทองเหลือกินเหลือใช้… สถานที่ท
ี่น่าสนใจอีกแห่งในวัดก็คือ วิหารแกลบ ภายในประดิษฐาน พระเจ้าเข้านิพพาน (หนึ่งใน UNSEEN THAILAND)เป็นพระพุทธรูปปางแปลกๆ คือ มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมคล้ายโลงศพ แต่มีเท้ายื่นออกมา การไหว้ก็จะทำโดยการยืนกราบที่ฝ่าเท้าทั้งสองแล้วนำหน้าผากไปติดกับฝ่าเท้าแล้วอธิษฐาน

และหากท่านมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่วัดใหญ่ในช่วงนี้ ก็จะได้พบกับการขุดค้นบริเวณ เนินวิหารเก้าห้อง ที่อยู่ด้านหลังของพระอุโบสถ ของกรมศิลปากร ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราชซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ วัดภูเขาทอง กรุงเทพฯ และภายในบริเวณวัดยังมีบริการนั่งรถชมเมืองพร้อมมีเจ้าหน้าที่บรรยายอีกด้วย อัตราค่าบริการก็ไม่แพง หากท่านมีเวลา ผมคิดว่าก็ควรจะไปนั่งชมดูซักรอบ ท่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเมืองพิษณุโลกอีกมากเลยทีเดียว

  

พระปรางค์ประธาน ที่แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบ สุโขทัย และบานประตูประดับมุก

หลังจากนมัสการพระพุทธชินราช เรียบร้อยแล้วเราก็เดินข้ามถนนสายเล็กๆข้างวัดมาที่ วัดนางพญา

วัดนางพญา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัดใหญ่ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างแต่หากพิจารณาทางด้านสถาปัตยกรรมของพระวิหารวัดนางพญาแล้ว สันนิษฐานว่าวัดนางพญาน่าจะสร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลาย หรือสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ชาวพิษณุโลกเค้าเชื่อกันว่า ผู้สร้างวัดนางพญา คือ พระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชมารดาของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกนานถึง 21 ปี ในระหว่างปี พ.ศ.2091 – 2112 จึงได้ชื่อว่า วัดนางพญา วัดนางพญาแห่งนี้เดิมทีไม่มีพระอุโบสถ จะมีเพียงแต่พระวิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบทรงโรง มี 6 ห้องสถาปัตยกรรมศิลปะสมัยสุโขทัย มีพระพุทธรูปประธานเป็นปูนปั้น ศิลปะสุโขทัย ฝาผนังด้านหลังเขียนภาพไตรภูมิ ส่วนฝาผนังด้านหน้าเขียนภาพพระพุทธประวัติ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2515 พระครูบวร ชินรัตน์ (ม้วน) เจ้าอาวาสวัดนางพญาได้บูรณะแปลงพระวิหารหลังนี้ให้เป็นพระอุโบสถ โดยการก่อสร้างขึ้นใหม่หมดทั้งหลัง ทำให้ไม่สามารถที่จะศึกษาสภาพของพระวิหารโบราณหลังเดิมได้เลย ของดี ขึ้นชื่อของวัดนี้ คือ “พระนางพญา” เป็นพระเครื่องหนึ่งในกลุ่มพระเบญจภาคี มีความเชื่อกันในเรื่องเมตตา มหานิยม ปัจจุบันหาได้ยากมาก มีก็แต่ที่ได้สร้างจำลองขึ้นภายหลัง มีการพบกรุพระเครื่องครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2497 ใช้เวลาไม่นานในการเดินชมภายในวัด ก็เดินข้ามสะพานลอยหน้าวัด มาที่ “วัดราชบูรณะ”

วัดราชบูรณะ เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ก่อนรัชสมัยของพระยาลิไท แต่ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน บ้างแห่งมีการตั้งข้อสังเกตุว่า ในอดีตน่าจะเป็นวัดเดียวกันกับ วัดนางพญา เพราะมีการค้นพบพระนางพญาในกรุวัดราชบูรณะด้วย และที่มาของชื่อวัดก็มีการสันนิษฐานกันว่ามาจาก พระยาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ได้มาทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงได้ชื่อว่า “วัดราชบูรณะ” จวบจนทุกวันนี้ ภายในวัดนั้นเต็มไปด้วย โบราณสถานที่น่าสนใจอยู่มากมาย อาทิเช่น

พระอุโบสถวัดราชบูรณะ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย เป็นอุโบสถทรงโรง แบ่งเป็น 6 ห้อง ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรม ฝาผนังศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเฉลียงโดยรอบ หน้าจั่วแบบเดียวกับจั่ววิหารพระพุทธชินราช รอบอุโบสถประดษฐานเสมา เป็นเสมาคู่หินชนวนสลัก ประดิษฐานบนฐานบัวไม่มีซุ้ม เป็นแบบเสมายืนแท่น พระประธาน เป็นพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัยลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก 2.55 เมตร สูง 4.20 เมตร… วิหารหลวง มีลักษณะอาคารทรงโรง แบ่งออกเป็น 9 ห้อง เป็นลักษณะศิลปกรรมแบบสุโขทัย พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก 3.30 เมตร สูง 4.20 เมตร มีพระพุทธลักษณะเป็นแบบปติมากรรมสมัยสุโขทัยที่งดงามมาก… หอไตรเสากลม เป็นลักษณะอาคารก่ออิฐถือปูน2 ชั้น มีเสาทั้งหมด 16 ต้น ลักษณะเสากลม เป็นเสาปูนที่รองรับอาคาร ชั้นล่างใช้แขวนระฆัง ชั้นบนเป็นหอไตร และ หอไตรไม้ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น ชั้นบนเป็นหอไตร ชั้นล่างเป็นหอสวดมนต์ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เจดีย์หลวงวัดราชบูรณะ (ที่ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ) เป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ แกนในของฐานเป็นดิน ภายนอกก่ออิฐฐานพระเจดีย์เป็นหน้ากระดาน 8 เหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นไป 8 ชั้น มุมฐานชั้นบนสุดมีจุลเจดีย์ประดับที่มุม ระหว่างจุลเจดีย์นี้ทำเป็นพนักระเบียงติดต่อกันโดยรอบ ส่วนตรงกลางเป็นพระเจดีย์ประธาน จากการศึกษารูปแบบพบว่า ฐานเจดีย์มีลักษณะทรงศิลปะสมัยสุโขทัย จึงสันนิษฐานว่า น่าจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยอยุธยา… ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียง ข้อมูลพอสังเขป เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยให้ท่านที่ได้อ่าน มีไฟอยากจะไปชมสถานที่เหล่านี้จริงๆดูซักครั้ง จ.พิษณุโลกยังมีอะไรดีๆรอให้เราๆท่านๆไปค้นหาอีกเยอะครับ ขนาดตัวผมเองอยู่มาก็หลายปี ยังไม่เที่ยวมาไม่ครบเลยครับ แต่ผมก็ตั้งใจไว้ว่า จะต้องกลับไปเที่ยวให้ครบให้ได้ซักวัน…