วันนี้ยังคงเป็นการเดินทางวันที่ สามของผม สำหรับเส้นทาง อารยธรรม ไตลื้อ เส้นนี้ หลังจากที่ผมทำเรื่องผ่านแดน ที่ ด่าน ต้าลั๊วะ ซึ่งค่อนข้างยาก อันที่จริงยากมาก (แต่ใช้เส้นสาย จากคุนหมิงเลยง่ายหน่อย เพราะด่านนี้เปิดให้ คนพม่าและจีน เข้าออกเท่านั้น คนไทย อย่างเราเลยอาจจะใหม่ สำหรับที่นี่ ) หลังจาก ผ่านด่านมาเรียบร้อย รถของจีนก็มารอรับคณะ เราที่ด่าน เพราะที่ผ่านมาเราใช้รถโค๊ชใหญ่ของไทยตลอดครับ ผมยังคงเดินทางโดยรถ ตามถนนหนทาง บนเทือกเขาสวยงาม เห็นแล้ว อดนึกหวั่นใจไม่ได้เพราะทรัพยากรของเขาสมบูรณ์มากครับ นึกๆดูแล้ว ถ้าเราไม่อนุรักษ์ ทรัพยากรไว้ไห้ดี ในอีกไม่ช้า เราจะไม่เหลืออะไรแน่นอน วันนี้จุดหมายของผมอยู่ที่ เชียงรุ่ง หรือ บางคนเรียก เชียงรุ้ง นั่นเอง
สภาพไร่นา 2 ข้างทางอุดมด้วยน้ำ พร้อมทำนา ตลอดปี
เชียงรุ่ง หรือ ชื่อทางการคือ จิ่งหง ( Jinghong ) นั้นนับเป็นเมืองที่หลายๆเคยได้ยินชื่อเสียงกันมานานแล้ว หากแต่ในอดีตนั้น การเดินทางยากลำบากมากนัก จึงมิค่อยมีใครอยากเดินทางมาเที่ยวกัน ที่นี่ บางท่าน อาจเรียกได้ว่า ดินแดนสิบสองปันนา ก็ได้ มีหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ว่า บรรพบุรุษไทยของเราแต่เดิมนั้น อพยพมาจากที่นี่ ซึ่ง ถ้าใครมาที่นี่ก็พอจะทราบได้ครับ ว่า ชาวไตลื้อ มีลักษณะ ขนบธรรมเนียม ประเพณี คล้ายคลึงกับไทยเรามาก ยิ่งถ้า คนไทยตอนเหนือ ยิ่งส่งภาษากันรู้เรื่อง เพราะพื้นฐานภาษาใกล้เคียงกันมาก สำหรับผมในครั้งนี้แล้ว มี คำปู้จู้ เดินทางมาด้วย เลยสามารถส่งภาษา ได้ง่ายหน่อยครับ
ช่วงบ่ายๆของวันนี้ผมอิ่มหนำกับ อาหารจีนเต็มที่ แล้วก็เริ่มเที่ยวครับ ที่เที่ยวของบ่ายนี้ คือ สวนหม่านทิง สวนสาธารณะ ประจำเมืองเชียงรุ่ง มีอีกชื่อว่า ชุงควน ซึ่งมีความหมายว่า สวนแห่งวิญญาณ ตั้งอยู่กลางเมือง บนพื้นที่กว่า สามพันตารางกิโลเมตร ร่มรื่นด้วยต้นขี้เหล็ก จำนวนมาก ผมเริ่มเดินเข้าสวนแห่งนี้ ทางด้านของวัด ชื่อวัด ป่าเจ ซึ่ง เป็นวัดไทยลื้อ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนแล้วค่อยเดินต่อ
ที่นี่มีสิ่งก่อสร้างแปลกไปจากวัดที่บ้านเรา ปูชนียสถานที่สำคัญ ของวัดคือ เจดีย์ขาว ซึ่ง มีรูปร่างคล้ายกับพระธาตุไชยา ของไทย และ เจดีย์ขาว นี้ มีความสำคัญและเป็นที่เคารพสักการะ ของคนเชียงรุ่งอย่างมาก เราสามารถ พบเห็นรูปของ เจดีย์ขาว ได้ทั่วไป ตามโปสเตอร์ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ
ในคืนวันสำคัญทางศาสนา ต่างๆ จะมีการเวียนเทียนรอบๆเจดีย์ขาวนี้ด้วย โดย ผู้ชายจะเดินอยู่วงรอบด้านใน ส่วนผู้หญิง จะเดินอยู่วงรอบด้านนอก
เจดีย์ขาว สวยงามครับ ถึงแม้ขนาดจะไม่ใหญ่มากนัก
เดินต่อมาเรื่อยๆ ก็จะเจอส่วนที่ขายของที่ระลึก แล้วเดินต่ออีกนิดทางเดินก็จะเชื่อมเข้าสู่ สวนหม่านทิง ซึ่ง นับว่าคล้ายคลึง กับสวนสาธารณะบ้านเรามากครับ ผู้คนสามารถ นำเสื่อมาปูนั่งเล่นได้ คนที่นี่นิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ ที่นี่มาก ผมเดินผ่าน สระน้ำขนาดใหญ่ เข้าสู่สวนขี้เหล็ก เดินชมต้นขี้เหล็กอายุหลายร้อยปี แต่ละต้นมีขนาดใหญ่มาก ต้นขี้เหล็กเหล่านี้ ชาวบ้าน ก็นำมาปรุงเองเช่นเดียวกับคนไทยครับ ระหว่างเดินชมต้นขี้เหล็กที่ ครึ้มไปเสียหมดนั้น ได้ยินเสียง กุ๊กๆ แว่วมา คล้ายกับไก่
![]()
สระน้ำขนาดใหญ่ถ้าช่วงเย็น จะเย็นสบายมาก และ สวนขี้เหล็ก ร่มรื่นด้วยขี้เหล็ก อายุ หลายสิบร้อยปี
พลางสงสัยว่า เสียงอะไร ยินเดินต่อไปยิ่งได้ยินชัดเจนขึ้น แสดงว่าเข้าใกล้ต้นเสียงแล้ว และแล้ว ก็ต้องร้อง อ๋อ เพราะว่า เสียงที่ได้ยินนั้น มาจาก กรงนกยูงนั่นเอง กรงนั้น อาจไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ผมว่า ก็ใหญ่พอที่จะเลี้ยงนกยูงได้สัก 300 ตัว เท่าที่เดาดูน่าจะประมาณ 100 กว่าตัวเห็นจะได้ ในที่สุดผมก็ได้เจอ เจ้าถิ่นของ เชียงรุ่ง แล้ว เพราะ ดินแดนแห่งนี้นับเป็น ดินแดนแห่งนกยูง เลยก็ว่าไ่ด้เพราะ ในดินแดนแถบนี้มี นกยูงอาศัยอยู่จำนวนมาก (ในป่าทึบนะครับ ไม่ใช่ในเมือง) นกยูงนับเป็นสัญลักษณ์ แห่ง โชคลาภ และ ความสุข ของชาวไต ก็ว่าได้ นอกจากนกยูงแล้ว ช้างยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ สามารถ พบเห็นได้ง่าย และมีจำนวนมาก เช่นกัน ( แต่เขาไม่เอาช้างมาเดินหากินในเมืองกันนะ)
นกยูงสัญลักษณ์ แห่งโชคลาภ และ ความสุข
เดินต่อเรื่อยๆ เราก็จะพบกับ อนุสาวรีย์ ท่าน โจว เอน ไหล อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน แต่งกายในชุดแบบ ชาว ไทยลื้อ มือหนึ่งถือขันน้ำ มือหนึ่งถือใบไม้ เพื่อเล่นน้ำสงกรานต์ กับชาวบ้าน ในอดีตเมื่อ ค.ศ.1961 ท่าน โจว เอน ไหล เคยได้มาเล่น สงกรานต์ กับชาวสิบสองปันนา จนกลาย เป็นที่ประทับใจไม่รู้ลืม จึงเป็นสาเหตุให้มีการสร้าง อนุสาวรีย์ เอาไว้
อนุสาวรีย์ นายกรัฐมนตรี โจว เอน ไหล
เมื่อถึงบริเวณ อนุสาวรีย์จึง สิ้นสุดการเที่ยว สวน หม่านทิง จากนั้น ผมก็เดินทางเข้าที่พัก ว่าแล้วก็ออกไปเดินเล่นเสียหน่อย เพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารเย็น ในช่วงเวลา กลางวัน – เย็น ชาวเมืองจะดูบางตามาก ไม่รู้เขาไปอยู่ที่ไหนกันหมด แต่พอถึงเวลาย่ำค่ำ แล้ว จะมีคนพลุกพล่านมากเลยครับ ไม่รู้ว่าคนที่นี่เขากลัวแดดกัน หรือเปล่า เพราะ แดดร้อนมากๆ ขนาดมาเที่ยวหน้าฝนนะครับ แทบไม่เปียกฝนเลย ในย่านช๊อปปิ้ง ก็มีคนพลุกพล่านมากที่สุด
ตามท้องถนนข้างทางจะเห็นต้นปาล์ม ปลูกอยู่มากมาย เป็นผลมาจาก การฝืนธรรมชาติ ของรัฐบาลจีนนั่นเอง กล่าวคือ รัฐบาลเขาพยายามที่จะไม่ใช้ และไม่นำเข้า น้ำมันจากต่างประเทศ จึงได้นำพันธุ์ ปาล์มมาปลูก ซึ่งก็ปลูกได้ แต่ ด้วยภูมิอากาศ และ ภูมิประเทศที่ไม่เหมาะสม จึงให้ผลผลิตที่ต่ำกว่า เกณฑ์ รัฐบาลจีนจึง นำมาปลูกประดับริมทางแทน ฟังดูแล้ว หลายๆ ท่านอาจ มองเป็นเรื่องตลก ขำขัน แต่ ในมุมมองของผมนั้น ผมคิดว่า ขนาดประเทศ เขารู้ว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะ ยังมีความพยายามที่จะทดลอง แต่เมืองไทยมีการปลูกปาล์มกันมากมาย กลับไม่ช่วยกันรณรงค์ส่งเสริม การใช้น้ำมันปาล์ม ทดแทนน้ำมัน นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ใช่คนที่เห็น บ้านอื่นเมืองอื่นดีกว่านะครับ แต่อยากเห็นบ้านเรา เลือกและหยิบ สิ่งที่ดี จากบ้านอื่นเมืองอื่นมาพัฒนา โดย ไม่กระทบ กับ ธรรมเนียม ประเพณี อันดี ของไทยเรา เท่านั้นเอง
![]()
ต้นปาล์ม ตามข้างถนน ผลจากความพยายาม เอาชนะธรรมชาติ
เมื่อเดินเสียจนเหนื่อยแล้ว ก็เดินทางไปรับประทานอาหารมื้อพิเศษ ที่ ไตลื้อโชว์ ที่นี่มี โชว์การแสดงต่างๆ ของไทยลื้อ ทั้ง เต้นรำ ฟ้อนรำ และ เป่าขลุ่ยน้ำเต้า รวมถึง เซอร์ไพรซ์ เล็กๆน้อยๆ ด้วย
ระหว่างที่ผมกำลังจะอิ่มก็เริ่มเพลิดเพลินกับ การแสดงแล้ว ก็ต้องตกใจเมื่อได้รับ เชิญขึ้นไปบนเวที อะไรกันนี่ เขาให้ผมจับคู่กับสาวๆ ไตลื้อ บนเวที ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวนะครับ หนุ่มๆ คนอื่นๆ เช่นกัน ในที่สุด ความงุนงง ก็คลี่คลาย เมื่อ เขาได้สมมุติให้เราเป็นเจ้าบ่าว ในโชว์พิธีแต่งงานนั่นเอง เอ้า เอาก็เอา ไปมาก็หลายที่ จะได้แต่งงานก็ที่นี่ แหละ นายเกริกเกียรติ แล้วผมก็ได้รำวง กับ เจ้าสาวสมมุติ ซึ่ง ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่า ความอ่อนช้อย และ งดงามของท่วงท่า รำวง แบบไทยๆ นั้น งดงามกว่ามาก เมื่อ รำวงเรียบร้อยจึงได้กลับมานั่งรับประทานอาหารต่อ เฮ้อ ใจหายเลยครับ นึกว่า ไม่ได้กลับบ้านซะแล้ว ฮิฮิ
![]()
การแสดง ฟ้อนรำ ของไทลื้อ และ ประเพณีแต่งงาน ที่หนุ่มๆไทย ชอบอก ชอบใจกันใหญ่
เช้าวันใหม่ ของผมที่ เชียงรุ่ง วันนี้ผมออกเดินทางสู่ ท่าเรือ เชียงรุ่ง เพื่อ บันทึกภาพ สะพานแขวนที่ยาวที่สุดใน มณฑลยูนนาน ซึ่ง แต่เดิมนั้น มีสะพานแขวน ซึ่งทำด้วยไม้ อีกแห่งหนึ่ง นับเป็นความภาคภูมิ ใจของชาวไทลื้อ เป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันมิได้ใช้การแล้ว เมื่อมาถึงท่าเรือ ก็่ถ่ายภาพกันอย่างสนุกมือ เพราะ หมอกยามเช้า ลงกำลังดี แถมวันนี้ น้ำโขงมีน้ำมากพอดู ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือใหญ่ ที่ขนส่งผลไม้ และสินค้าอื่นๆ จากจีนสู่ อ.เชียงแสน ประเทศไทย นั่นเอง
สะพานแขวน เมื่อมองจากท่าเรือ
จากนั้นผมก็เดินทางต่อ เพราะ ไม่ใช่แค่นั่งรถข้ามสะพาน แขวนเท่านั้น ผมยังได้นั่งกระเช้า ข้ามแม่น้ำโขงอีกด้วย เพื่อชมบรรยากาศและ ทัศนียภาพ โดยรอบ
![]()
นับเป็น อีกหนึ่ง รายการน่าสนใจ ครับสำหรับนั่งกระเช้า ข้ามโขง
ผมถอนหายใจ เฮือกใหญ่ ก่อนก้าวขึ้นกระเช้า เพราะ ผมค่อนข้างกลัวความสูง แถมข้างล่างยังเป็นแม่น้ำโขงที่ไหลเชี่ยว อีกต่างหาก (ที่กลัวความสูงไม่ใช่อะไรหรอกครับ เคยไปห้อยโตงเตง อยู่กลางทะเลที่เซนโตซ่า สิงค์โปร์ กลางพายุครับ เป็นใคร ก็คงต้อง กลัวไปเลยเหมือนกันแหละ) สำหรับแม่น้ำโขงนั้น ว่ากันว่า ไม่ว่าช่วงไหน ก็ไม่สามารถใช้ระบบ โซนาร์ได้ เพราะความขุ่นของน้ำนั่นเอง นั่งกระเช้าวันนี้ผมได้ซึมซับความเป็นธรรมชาติ ได้อย่างเต็มที่ อีฟากฝั่งหนึ่งนั้น เป็นสวน ซึ่งมีการเลี้ยงสัตว์ ต่างๆ แต่เรามิได้เข้าชม เนื่องจาก จะมีโปรแกรมไปเที่ยว กันหลั่นป้า ต่อนั่นเอง ได้ยินเพียง เสียงชะนี ร้องอยู่ไกลๆ ในขากลับเริ่มติดใจอยากนั่งต่อ เพราะ อากาศเย็นสบายกำลังดี แต่ก็ต้องบอกกับตัวเองว่าเรายังต้องไปที่อื่นต่ออีก
บรรยากาศทางเข้า หมู่บ้านไทลื้อ
จากนั่งกระเช้าข้าม ลำโขงแล้ว ผมก็เดินทางต่อสู่ กันหลั่นป้า เพื่อ ไปเที่ยวหมู่บ้านไทลื้อ ต่อ เมื่อมาถึงที่หมู่บ้านไทลื้อแล้ว ผมก็ได้เข้าฟังการบรรยายถึง วิถีชีวิตในบ้าน ทรงไทลื้อระหว่างที่นั่งฟังอยู่ ก็มัวแต่หา แบตเตอร์รี่กล้องถ่ายรูป ไปด้วย แล้วอยู่ๆ ก็มีสาวๆชาวไทลื้อมาจูง ออกไปนอกบ้าน ไม่ใช่แค่ผมนะครับ คนอื่นๆด้วย ตอนแรก ก็งงๆ แต่ในที่สุดก็เข้าใจ ครับ เขาชวนเราแต่งงานอีกแล้ว พอดี เมื่อวานเราได้แต่งงานมาแล้วรอบนึง วันนี้เลยรู้ธรรมเนียมหน่อย ก็ร่วมสนุกกับเขาครับ จากนั้น ก็เริ่มเดินต่อ เพื่อ ชมบรรยากาศของหมู่บ้าน ไทลื้อ มีทั้งของขายมากมาย อาทิเช่น จำพวก ผ้าทอ ต่างๆ ของกินก็มีครับ
เดินทางเที่ยวนี้ โดนจับแต่งงานกันหลายรอบหน่อย
และแล้วผมก็มาถึงจุดที่นับเป็น ไฮไลท์ ของที่นี่ นั่นคือ วัด กันหลั่นป้า หรือ วัดมหาสุทธาวาส นั่นเอง ซึ่งเป็นวัดไทลื้อ โบราณ ภายในมีพระประธานขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่รองลงมามีพระพุทธรูป เล็กๆเรียงรายอีกหลายองค์ ตัวอุโบสถ นั้น ก่อสร้างด้วยไม้ ไม่มีการตอกเข็ม แต่จะเป็นการ วางเสาไม้บนแท่นหิน แทน ซึ่ง นับเป็น หลักการปลูกสร้างของชาวไทลื้อปรกติ ภายในมีการเขียนลวดลายด้วยวิธีแบบเสตนซิล แต่ไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
![]()
บริเวณหน้าวัด สวยงามมองแล้วนึกถึง วัดทางเหนือแถบ แม่ฮ่องสอน ของไทย
ตัววัดมีเครื่องหลังคา เป็นจั่วหลายจั่วซ้อนลดหลั่นกันลงมา สวยงามเลยทีเดียว ตัววัดอยู่ในบรรยากาศ ที่เงียบสงบ ถึงแม้ภายนอกนอกจะมี ผู้คนเดินไปเดินมาก็ตามแต่เมื่อเราเข้ามาภายในวัดแล้ว ความรู้สึกก็จะเปลี่ยนไปทันที
สวยงาม และ สงบนิ่ง
ที่นี่นับเป็นชุมชน หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึง ความร่วมมือร่วมใจ ของชุมชน จากที่พวกตนเป็นชนกลุ่มน้อย แต่กลับดึงจุดด้อย มาใช้เป็นจุดเด่น และยัง พร้อมใจกันทั้งหมู่บ้าน ยังผลให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากมาย นับว่ายอดเยี่ยมครับ หากชุมชนต่างๆในไทย ร่วมแรงร่วมใจได้อย่างนี้ คงจะดีเป็นแน่แท้
ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่นานพอสมควร ก่อนจะเดินทางกลับสู่เชียงรุ่ง ในช่วงบ่าย หลายๆ ท่านอาจรู้สึกว่า การเดินทางมาเชียงรุ่งนั้น ไม่มีสถานที่ ท่องเที่ยวที่น่าสนใจเลย มีแต่วัด กับพวก ไทลื้อ อันที่จริง ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การท่องเที่ยว ในรูปแบบอื่นครับ อย่างน้อยเราก็ได้เห็นวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของเขา และ เพิ่มพูนประสบการณ์ของเราครับ
วันพรุ่งนี้ผมต้องเดินทางกลับแล้ว แต่การเดินทางของผมยังไม่จบนะครับ เรายังจะไปกันที่เมือง เชียงตุง เมืองหลวงของรัฐฉาน ประเทศ พม่าครับ วันนี้ขอตัวไปซื้อของฝากก่อน สวัสดีครับ
อ่านสกู๊ป เจียงฮาย เมืองลา ได้ที่นี่
อ่านสกู๊ป เชียงตุง ได้ที่นี่