ทุ่งไหหิน ความลึกลับ ที่รอคำตอบ
สวัสดีครับวันนี้ผม “ดาวฟ้า” กลับมาอีกครั้งครับ วันนี้ผมมีประสบการณ์การเดินทางไปเบิ่งแขวงเชียงขวาง หลวงพระบาง และวังเวียง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาวนั่นเองครับ แต่ครั้งนี้ผมจะขอเล่าเฉพาะแต่การเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองเชียงขวาง และพิสูจน์ความประหลาดของทุ่งไหหินให้หายสงสัยครับว่า แท้จริงแล้วไหหินจำนวนนับร้อยเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และเป็นฝีมือของใครกันแน่ เริ่มจะสนใจแล้วใช่มั๊ยครับ ถ้าสนใจก็ตามมาเลยครับ
วันนี้ผมเดินทางถึงเชียงขวางช่วงเย็นพอดี รับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้วก็เข้าที่พักโรงแรมภูช้างเลย คืนนี้ผมได้แต่เฝ้ารอให้ถึงวันรุ่งขึ้นเพื่อที่ผมจะได้ไปพิสูจน์ไหหินสักที
โรงแรมพูช้าง ที่นอนแสนสบายของคืนนี้
มารู้จักกับแขวงเชียงขวางก่อนครับ แขวงเชียงขวางตั้งอยู่ภาคเหนือของ สปป.ลาว เป็นเขตภูเพียง (คำว่า ”ภูเพียง” หมายถึงภูเขาเตี้ยๆ) ลักษณะภูเขาบริเวณนี้เป็นภูเขาหัวโล้น เพราะไม่สามารถเพาะปลูกพืชอะไรได้เลย เนื่องจากพิษฝนเหลือง จากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม มีเมืองหลวงใหม่ชื่อเมืองโพนสะหวัน เชียงขวางมีเนื้อที่ 17,315 ตารางกิโลเมตร มีพลเมืองประมาณ 186,000 คน ประกอบด้วย 6 เมืองคือ เมืองแปก เมืองคำ เมืองหนองแฮด เมืองคูน เมืองหมอกใหม่ และเมืองพูกูด มีชายแดนติดต่อกับ แขวงหลวงพระบาง แขวงบริคำไซ แขวงเวียงจันทน์ และประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ชนกลุ่มน้อยแถบนี้ ออกมาขายของกันตอนเช้า
แขวงเชียงขวางเป็นเมืองหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดของ สปป.ลาว เมืองนี้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกเนื่องจากเป็นเมืองที่มีร่องรอย ประวัติศาสตร์เก่าแก่ และที่สำคัญก็คือ มีไหหินขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากกระจายอยู่เป็นกลุ่มๆ บริเวณภูเพียงเชียงขวางนี้มีกษัตริย์ปกครองมาแล้ว 23 พระองค์ เป็นอาณาจักรหรือแคว้นหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ในสมัยก่อน เจ้าฟ้างุ้ม ได้รวบรวมลาวในกลางศควรรษที่ 14 และเป็นเมืองที่มีร่องรอยวัฒนธรรมโบราณมากมายแขวงเชียงขวางเคยเป็นสมรภูมิสู้รบ
อันดุเดือด ในสมัยสงครามเวียดนาม หรือสงครามอินโดจีน สาเหตุอาจเป็นเพราะว่าเชียงขวางเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเมืองโพนสะหวัน เมืองหลวงของแขวงเชียงขวาง ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนประเทศเวียดนามตามเส้นทางหมายเลข 7 เพียง130 กิโลเมตร ซึ่งในช่วงสงครามเวียดนาม เส้นทางสายนี้เคยถูกใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากเวียดนามเหนือสู่ขบวนการประเทศลาว ซึ่งเป็น พันธมิตรกัน เพราะใกล้กับพันธมิตรเวียดนามเหนือทำให้ขบวนการประเทศลาวตัดสินใจตั้งกองบัญชาการใหญ่ขึ้นที่เชียงขวางแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ จึงส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 มาทิ้งระเบิดปูพรมบริเวณนี้อย่างหนัก ส่งผลให้อาคารบ้านเรือน วัดวาอารามถูกทำลายลงสิ้น ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่ในแขวงข้างเคียง
ร่องรอยของสงคราม ทีฝังลึก แสดงหลักฐานของความสูญเสียอย่างชัดเจน
เมืองโพนสะหวัน เมืองหลวงใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นแทนเมืองคูน เมืองหลวงเก่าของแขวงเชียงขวาง มีประชากรประมาณ 60,000 คน ประชากรโดยทั่วไปดำเนินชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก
บรรยากาศของ เมืองโพนสะหวัน
เช้านี้ที่เชียงขวางอากาศหนาวเย็นมาก ผมรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้วออกเดินทางทันทีครับ เช้านี้ผมจะเริ่มด้วยการไปสัมผัส วิถีชิวิตชาวเชียงขวางที่ตลาดเช้าเมืองโพนสะหวันก่อนครับ ผมมีความคิดว่า ถ้าจะรับรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ของผู้คนในเมืองต่างๆ ล่ะก็ชมตลาดนี่แหละครับ จะได้พบเห็นผู้คน ความเป็นอยู่ ตลอดจนอาหารการกินต่างๆ ผมนั่งรถจากที่พัก ไปตามถนนในเมืองโพนสะหวัน บ้านเมืองของเขาสงบเงียบเรียบร้อย เป็นเมืองทีมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ซะทีเดียว ไม่มีตึกสูงๆ ให้เห็นเลยครับ รถมาจอดที่บริเวณสามแยก ใกล้กับตลาดเช้า ผมเดินทางเที่ยวชมอยู่พักหนึ่ง ได้เก็บภาพมาฝากด้วยครับ ตลาดเช้าเมืองโพนสะ หวันนี้มีของขายหลากหลายชนิด ทั้งส่วนของที่เป็นของสด ผัก ผลไม้ต่างๆ และส่วนของเสื้อผ้า เสื้อกันหนาว
ถุงมือ ถุงเท้า กระเป๋า ฯลฯ สินค้าส่วนใหญ่จากประเทศจีนครับ ราคาถูกมากด้วย ผมคิดว่าคงถูกใจนักท่องเที่ยวที่มีใจรักการช็อปปิ้งครับ เสร็จจากชมตลาดเช้าก็เดินทางต่อเพื่อไปชมทุ่งไหหินครับ
ไหหิน ลูกที่ใหญ่ที่สุด ตั้งตระหง่านท้าทาย แดด และ ลม
ทุ่งไหหินเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของแขวงเชียงขวางครับ ตามคำบอกเล่าว่า ชาวบ้านไปพบเข้าระหว่างออกหาของป่าและล่าสัตว์ เป็นไหหินที่ผลิตจากก้อนหินขนาดใหญ่ มีจำนวนมากมายกระจัดกระจายไปทั่วเขตภูเพียงเชียงขวาง จึงได้นามว่าทุ่งไหหิน (Plain of jars) ไหหินมีทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ไหหินใหญ่ที่สุด สูง 3.25 เมตร และปากกว้าง 3 เมตร ไหหินส่วนใหญ่สกัดมาจากหินทรายที่เป็นวัสดุที่หาง่ายในบริเวณนั้น แต่ก็มีอยู่หลายใบที่ปรากฏร่องรอยว่าถูกชักลากมาจากที่อื่นครับ บางไหยังสกัดไม่เสร็จก็มี
บรรยากาศการชมไหหิน ถึงแดดจะจัด แต่อากาศก็หนาว และลมแรงมาก ทำให้ ไม่เหนื่อย
ข้อพิสูจน์เกี่ยวกับไหหินเหล่านี้ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าไหหินดังกล่าวนี้มีไว้เพื่อทำการใด มีแต่เพียงข้อสันนิษฐาน 3 ประการว่า 1.อาจจะตัดมาจากหินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง ซึ่งทำไว้เพื่อบรรจุคนตายในสมัยก่อน หลายพันปีมาแล้ว (ก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ 3,000-4,000ปี) ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้นที่ว่า สถานที่ฝังศพคนตายต้องรักษาไว้ในที่สูง เพื่อหลีกเว้นการเซาะพังทลาย จากน้ำต่างๆ ดังนั้นจึงเห็นไหหินอยู่ในสถานที่เป็นเนินสูง 2.อาจจะเป็นไหเหล้าของนักรบโบราณ คือตามตำนานกล่าวไว้ว่าระว่างศตวรรษที่ 8 นักรบผู้กล้าหาญของลาวผู้หนึ่ง ชื่อว่าท้าวขุนเจือง ได้ยกกำลังพลไปทำสงครามแล้วก็ได้ชัยชนะอยู่ที่เชียงขวาง หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว ก็ได้ทำการฉลองชัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 7 เดือน ไหที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นไหเหล้าสำหรับเลี้ยงไพร่พลในการฉลองชัยชนะของท้าวขุนเจือง ในคราวนั้น ดังนั้นคนลาวทั่วไปมักเรียกว่า “ไหเหล้าเจือง”
3.เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับ Stone Henge ที่คล้ายคลึงกันคือเป็นหินตั้งกลางแจ้งทุ่งไหหินที่เชียงขวางนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มครับ กลุ่มที่ 1 อยู่ห่างจากเมืองโพนสะหวัน 7.5 กิโลเมตร มีไหหินกระจัดกระจายอยู่ประมาณ 200 กว่าใบ มีขนาดใหญ่กว่า กลุ่มอื่นๆ และมีไหใบใหญ่ที่สุดอยู่ที่นี่ กลุ่มที่ 2 อยู่ห่างออกไป 25 กิโลเมตร มีไหหินประมาณ 90 กว่าใบ และกลุ่มที่ 3 อยู่ห่างกลุ่มที่ 2 ไปประมาณ 10 กิโลเมตร มีไหหินอยู่ประมาณ 150 ใบ กระจายอยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ แต่สำหรับที่ผมได้ไปพิสูจน์นั้น เป็นทุ่งไหหินกลุ่มที่ 1 เท่านั้นครับ เนื่องด้วยมีเวลาในการเดินทางไม่มาก ณ บริเวณ ทุ่งไหหินกลุ่มที่ 1 นี้ จะเห็นกลุ่มไหหินขนาดใหญ่อยู่บนเนินเขาซึ่งไม่สูงมาก มีจำนวนที่ผมนับได้ ราวๆ เกือบ 20 ใบ ไหหินที่ใหญ่ที่สุดก็อยู่ที่นี่แหละครับ จากจุดที่เป็นเนินนี้สามารถมองเห็น กลุ่มไหหินจำนวนนับร้อย อยู่ในทุ่งหญ้าเบื้องล่าง เยอะจริงๆครับ นอกจากนั้น จากจุดนี้ยังสามารถมองเห็นสนามบินเชียงขวาง และตัวเมืองเชียงขวางอยู่ริบๆ ช่วงเช้าอากาศที่ทุ่งไหหินนี้หนาวเย็นมากครับ ภูเขาแถบนี้จะเป็นภูเขาหัวโล้นแทบทั้งหมด และถ้าสังเกตก็จะเห็นหลุมระเบิดเก่าที่เกิดจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสหรัฐฯ เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว หลังจากที่ผมได้พิสูจน์ไหหินด้วยตัวเองแล้ว ผมเชื่อว่าเป็นฝีมือของมนุษย์นี่แหละครับ แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ครับว่าสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่ สำหรับการเดินทางครั้งนี้ผมก็ได้ความประทับใจมากทีเดียวครับ และก็ได้ถือโอกาสนี้บอกเล่าประสบการณ์เล็กๆน้อยให้ทุกๆท่านได้อ่าน
ถ้ามีโอกาสก็อย่าพลาดไปพิสูจน์ไหหินที่แขวงเชียงขวางเหมือนผมนะครับ และมาร่วมไขข้อสงสัยกันนะครับ สวัสดีครับ
ป.ล.หลังจากเที่ยวชมเมืองเชียงขวางเสร็จ ผมก็ออกเดินทางต่อ เพื่อไปเมืองหลวงพระบางอีกหลายวัน สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการเที่ยวเมืองหลวงพระบางนั้นท่านสามารถอ่านได้จาก สกู๊ปหลวงพระบาง ของคุณเกริกเกียรตินะครับ