>>>เขาพระวิหาร

หนทางที่แสนยาวไกลสู่ยอดมงกุฏแห่งเทพเจ้า

สวัสดีครับ ทุกท่านวันนี้ นายเกริกเกียรติ จะพาทุกท่านไปชมอารยธรรม ขอม ซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศไทย แต่ สถานที่ซึ่งจะพาทุกท่านไปเที่ยววันนี้ จะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยครับ ซึ่งว่าไปแล้วก็เคยเป็นของไทยอยู่เนืองๆ แต่ปัจจุบันกลายเป็นของประเทศเพื่อนบ้านไปแล้ว นั่นก็คือ เขาพระวิหาร ครับ

เขาพระวิหารนั้น เป็นเทวสถานขอม นับว่ามีความยิ่งใหญ่ไม่น้อย และหากพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว ก็คงต้องบอกว่า ที่นี่สร้างขึ้นด้วยความยากลำบากยิ่งนัก นับเป็นสิ่งซึ่งแสดงถึง ศรัทธา อย่างเห็นได้ชัด

เขาพระวิหารนั้นตั้งอยู่บนแนวเทือกเขา พนมดงรัก หรืออ่านแบบ เขมรนั้น คงต้องออกเสียง กันแบบ พนมดงแร๊ก ซึ่ง หมายถึง คานหาบ นั่นเอง ก็คงเพราะสัณฐาน ของภูเขาที่แบนราบ นั่นเอง ที่ตั้งของเขาพระวิหารนั้น จะตั้งอยู่ ปลายหน้าผา ( บริเวณปรางค์ประธาน )ซึ่งจะสูงจากระดับน้ำทะเลปกติ 657เมตร โดยประมาณ ซึ่งมีการเปรียบเทียบเปรียบเปรย กันว่า เป็นเสมือน มงกุฏแห่งเทพเจ้า ก็ว่าได้

มองจากด้านบน เห็นทั่วทั้งบริเวณ

เขาพระวิหารเป็น ปราสาทหินที่สร้างในความเชื่อของ ศาสนาฮินดู โดยสมมุติให้เปรียบเสมือน เขาพระสุเมรุ ( ศูนย์กลางของจักรวาล) นั่นเอง โดยการสร้างนั้น ก็มีเหตุผลในการ รวบรวมอำนาจและความเชื่อของคนในละแวกนั้น เข้าด้วยกัน เพราะในอดีตแถบนั้น มี ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ อาศัยอยู่รวมกัน พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จึง โปรดให้สร้างเขาพระวิหารขึ้น เพื่อเป็นจุดยึดเหนี่ยว และ ศูนย์รวมจิตใจของ ชาวบ้านซึ่งจะทำให้การปกครอง ง่ายขึ้นด้วย

เมื่อเราจะเข้าชมเขาพระวิหารนั้น เราต้องเดินผ่านทางเข้าของผามออีแดง ด้วยซึ่งที่ผามออีแดงนั้น ก็จะมีภาพแกะสลัก บนหน้าผาอีกด้วย จากนั้นเราก็เดินเข้าสู่ประเทศเขมร โดยเสียค่าผ่านแดนไม่กี่บาท ก็สามารถเดินขึ้นชมเขาพระวิหารได้แล้ว เขาพระวิหาร นั้นจะมีทางเดินขึ้นจากทางฝั่งไทยเท่านั้น ส่วนทางเขมร หรือที่เรียกกันว่า เขมรต่ำนั้น จะมีทางขึ้นที่เรียกว่า บันไดหัก ( ปัจจุบัน แทบดูไม่ออก ) เพียงเท่านั้น ที่นี่จะมีส่วนสำคัญๆ ทั้งหมด 5 ส่วนด้วยกัน คือโคปุระ ( ซุ้ม ประตู) มี2 ช่วง , พระมหามณเฑียร , พระปรางค์ประธาน , และ หน้าผาเป้ยตาดี สุดทางของเขาพระวิหารนั่นเอง

ทางเดินจาก โคปุระชั้นที่ 1 สู่ โคปุระชั้นที่ 2

เรามาเริ่มชมเขาพระวิหารกันเลยครับ ผมเริ่มเดินขึ้นบริเวณบันไดนาค ซึ่งนับว่า ชันที่สุด และลำบากที่สุด เพราะบันไดนั้น ชำรุดมากแล้ว ที่นี่ เราจะเห็นหัวบันได มีนาคหัวโล้น ศิลปะแบบ บาปวน อยู่ด้วย แสดงให้เห็นถึง วิวัฒนาการของ ศิลปะในยุคเชื่อมต่อ ระหว่าง บาปวน เกาะแกร์ และ นครวัด นับว่าเที่ยวที่เดียวได้ชมครบครับ

เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากมาได้แล้ว ก็จะมาถึง โคปุระชั้นที่ 1 ซึ่ง ที่นี่ เราจะเห็น สิงห์ ทรายแกะสลัก ปรักหักพังได้ทั่วไป ด้านซ้ายมือของ โคปุระชั้นที่ 1 นี้ เป็น บันไดหัก ซึ่งสามารถเดินลงทางไปยัง ดินแดนเขมรต่ำได้ แต่เขมรไม่อนุญาติให้เราลงไปครับ ซึ่ง ภาพที่ได้เห็นนั้น ก็แทบดูไม่ออกว่า นั่นคือบันได ?

ที่โคปุระชั้นที่ 1 นี้ ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจมากนัก หน้าบัน และ ทับหลังต่างๆ เป็นเพียงภาพเทพนั่งชันเข่า ซึ่งก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเทพอะไร ด้วยซ้ำ จากโคปุระชั้นที่ 1 แล้ว เดินต่อขึ้นไป ตามทางดำเนิน ซึ่งเป็นลานหินกว้างประมาณ 7 เมตร สองข้างจะมีเสานางเรียง ตั้งอยู่ ทั้งสองด้าน แต่ก็มีปรักหักพังไปมาก เมื่อเดินไปจนสุด ก็จะถึง โคปุระ ชั้นที่ 2 ซึ่ง จะมีขนาดใหญ่กว่า ชั้นแรก และ จะมีลักษณะทึบกว่า เมื่อ มาถึงตรงนี้ เริ่มมี หน้าบัน และ ทับหลัง สวยให้ชมแล้วครับ เนื่องจาก ตัวปราสาทเขาพระวิหารนั้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ ดังนั้น หน้าบันแรกที่เราจะได้ชมก็จะอยู่ทางทิศเหนือเช่นกัน ก็คือ หน้าบันรูป พระศิวะ เหนือหน้ากาล อาจเป็นจุดที่ต้องการสื่อถึง ว่าทีนี่ต้องการบูชาเทพอะไรก็ได้ ส่วนด้านในนั้น ก็จะมี ทับหลัง รูป พระกฤษณะ ยกภูเขาโควรรธนะ ( เอาไว้รายละเอียด จะเล่าให้ฟังทีหลังครับ ) เมื่อเดินผ่านออกมาทางด้านหลัง แล้ว ก็จะพบว่า หน้าบันของ โคปุระ ด้านทิศ ใต้นั้น เป็นภาพของการกวนเกษียณสมุทร ซึ่ง แกะสลักได้สวยงามมาก ด้านล่างเป็นภาพของ พระนารายณ์ บรรทมสินธุ์ อยู่เหนือ อนันตนาคราช นับว่าเป็นหน้าบัน ภาพการกวนเกษียณสมุทรที่สวยที่สุด ตั้งแต่ผมเคยเห็นมา เลยครับ

ระหว่าง ทางเดินมักมี พ่อค้าแม่ขาย มานั่งขายของที่ระลึก ซึ่งไม่เป็นระเบียบนัก

จากนั้น เราเดินต่อไปอีก ราว 50 เมตร ก็จะถึง พระมหามณเฑียร ซึ่ง สร้างเพื่อใช้เก็บ ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งเอาไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตรงนี้จะมี ผนังค่อนข้างทึบและมิดชิด ซึ่งก่อด้วย หินทรายแกะสลัก ทั้งหมด ภายใน เราจะเห็นว่า หินบางก้อนที่ฝาผนังนั้น มีการสกัดเป็นรูๆ ซึ่ง บางท่านอาจเข้าใจผิด เอาไว้ใส่สลัก แต่จริงๆแล้ว สันนิษฐาน กันว่า เป็นที่ฝัง เครื่องเพชร พลอย หินสีต่างๆเสียมากกว่า บริเวณ พระมหามณเฑียรนี้ หน้าบัน ลวดลาย ต่างๆนั้น เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่รวมๆกัน ทั้งที่เกี่ยวกับ กษัตริย์ ซึ่ง คาดว่า คือ พระเจ้า สุริยวรมันที่ 1 นั่นเอง และ บางส่วนเป็นเรื่องราวตามคติฮินดู

บริเวณโดยรอบ มัก ปรักหักพังตามกาลเวลา และ ขาดการบูรณะ ที่ถูกต้อง น่าเสียดายอย่างมากครับ เดินไปตามซุ้มโคปุระ ก็จะเป็นทางเชื่อมเข้าสู่ ส่วนระเบียงคด ที่ล้อมรอบปรางค์ ประธานเอาไว้ ปรางค์ ประธานนั้น พังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงมณฑป ที่เชื่อมต่อกันเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างยิ่งครับ บริเวรทางเดินนั้น เต็มไปด้วย ก้อนหินทราย ซึ่งเคยเป็นส่วนประกอบ ขององค์ปรางค์ ฐานโยนี ซึ่งเคยใช้ ประดิษฐาน ศิวลึงค์ สิ่งที่สำคัญที่สุดของที่นี่ กลายมาเป็นเพียงก้อนหิน ซึ่งวางให้คนเหยียบ เดินขึ้นสู่ มณฑป เห็นแล้วก็พอจะสรุปได้ว่า พี่น้องชาวเขมรนั้น มิได้ให้ความสำคัญกับมรดกเก่าแก่เหล่านี้เท่าไรนัก มองเพียงแต่ว่า จะสามารถ นำสถานที่นี้ มาหาประโยชน์ได้อย่างไรเท่านั้น ซึ่งหากปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารยังอยู่ในความดูแลของไทย ก็คงจะมีสภาพที่ดี และ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญไม่น้อย ไปกว่า พนมรุ้ง หรือ พิมาย ฯลฯ

สภาพของพระมหามณเฑียรที่ ปรักหักพังเสียหมดแล้ว

รอบๆระเบียงคด นั้น จะเป็นทางเดินภายใต้ซุ้มหลังคา หินทราย ที่แข็งแรงมั่นคงนัก หากออกไปด้านขวามือ ก็จะสามารถออกสู่บริเวณภายนอกได้ ซึ่งตรงนั้น ก็จะเดินขึ้นชมหน้าผาเป้ยตาดี ได้นั่นเอง

หน้าผาเป้ยตาดีนั้น เป็นจุดชมทิวทัศน์ ที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง เราสามารถมองเห็นดินแดน เขมรต่ำ เบื้องล่างๆ ได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว ณ.จุดนี้ธงไทยเคยปลิวสะบัด แสดงอาณาเขตอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อมองกลับยังตัวปราสาท แล้ว เราก็จะ มองเห็นทั้งในส่วนของ พระคลัง ซ้าย และ ขวา และ ระเบียงคด ซึ่งล้อมรอบ องค์ปรางค์ประธาน เอาไว้ทั้งหมด

นับว่าต้องใช้แรงงานคนมกมายในการก่อสร้าง เทวสถานที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรือง ของอาราจักรขอมโบราณ ซึ่งแผ่ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ ไพศาล ถึง ภาคตะวันตกของไทย ในส่วนของรายละเอียด เรื่องราวปลีกย่อยนั้น คงไม่สามารถเล่าได้ทั้งหมด ผมเองจะยก เอารายละเอียดบางส่วนมาเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ

ทางเดินในระเบียงคด ยามแสงส่องลอดเข้ามาสวยงาม ขลังดีครับ

ภาพหน้าบัน การกวนเกษียณสมุทร ทิศใต้ของโคปุระชั้นที่ 2

หลายๆท่านอาจเคยได้ยินเรื่องราว ของการกวน เกษียณสมุทรมาบ้าง วันนี้เราเอาภาพ ของหน้าบันมาดู ประกอบกันเลย จะได้เข้าใจง่ายขึ้นครับ

ตามคัมภีร์ ปุราณะ ว่ากันว่า ครั้งหนึ่งบนดินแดนสรวงสวรรค์ ในเวลานั้น เทวดายังคง หิวโหย และไม่สามารถอิ่มทิพย์ได้ ได้มี วัวตัวหนึ่ง ขนาดใหญ่ มาบดบังพระจันทร์ และ พระอาทิตย์ ทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้เหล่าเทวดาเกิดความสงสัย ว่าเกิดเหตุอะไร จึงนำความไปสอบถาม พระพรหมณ์ แต่พระพรหมณ์ ไม่ทราบ จึงพากันไปถามพระ นารายณ์ พระนารายณ์เองก็ไม่ทราบ ต่อมาวัวตัวนั้นกลายร่างเป็น มารดา พระนารายณ์ และกล่าว เทิดทูน พระนารายณ์ พร้อมทั้ง อฐิษฐานขอให้ทะเล กลายเป็นทะเลน้ำนม เพื่อให้เทวดาได้ดื่มกิน และ อิ่มทิพย์ พร้อมทั้งตรัสว่า หากนำ น้ำนมนี้มากวน ให้เข้ากัน จะได้ สิ่งของวิเศษมากมาย เหล่าเทวดา และ ยักษ์ จึงตกลงกัน ที่จะกวน เกษียณสมุทรขึ้น โดยจะเอา เขาพระสุเมรุ มาเป็นแกน แล้วนำนาค วาสุกรี มารัด เพื่อหมุนแกนนั้น โดย ที่ เหล่า เทวดา ออกอุบายให้ยักษ์ จับ ทางหัวของ พญานาค เพราะพญานาคนั้นจะพ่นพิษออกมา ทำให้ ตายได้ และได้ตกลงกันว่า หากมีของวิเศษออกมาทางใด จะตกเป็นของฝ่ายนั้น

เมื่อกวนไปนานๆเข้า ยักษ์ ก็โดนพิษพญานาค ล้มตายเอามาก มีครั้งหนึ่งพระ ศิวะ เผลอกินพิษนาคเข้าไป คอจึงดำอีกด้วย ในการกวนนี้ มีของวิเศษ ออกมามากมาย แต่ที่เด่นๆ มีดังนี้

ดอกปาริชาติ ใครกินเข้าไป จะระลึกชาติได้

ม้าอุไวยะ ม้า 5 เศียร มีฤทธิ์ มากไม่มีใครจับได้

ช้างไอยราพต พระอินทร์ ขอไปเป็นพาหนะ

นางลักษมี รูปร่าง หน้าตาสยงามมาก พระนารายณ์ขอไปเป็น ชายา

น้ำอัมฤทธิ์ และ นางอัปสรา ออกมาพร้อมๆกัน

ที่จริงแล้ว ยักษ์ต้องเป็นฝ่ายได้น้ำอัมฤทธิ์ แต่มัวหลงใหล นางอัปสร จึงถูกเทวดาโกงไปเสียหมด แต่มียักษ์ ตนหนึ่ง ได้แอบกิน น้ำอัมฤทธิ์ ได้ทัน จึงเป้นอมตะ พระจันทร์ ผ่านมาเห็นเข้าจึงนำไปทูล พระศิวะ พระศิวะจึงขว้างจักร ตัดหัวยักษ์ตนนั้นเสีย ยักษ์เหลือแต่หัวที่มีชีวิตอยู่ ก็ได้ไล่ตามอมพระจันทร์ เพื่อเป็นการล้างแค้น ยักษ์ตนนั้น ชื่อราหูนั่นเองครับ

จากที่เราเห็นในภาพด้านบนนั้น ก็คงพอจะเข้าใจได้มากขึ้นนะครับ ที่เห็นเป็นเสาอยู่ตรงกลาง แล้วด้านล่าง มีเต่าตัวเล้กๆ รองรับอยู่นั้น คือ เสาพระสุเมรุ เต่าตัวนั้นคือ พระนารายณ์ แบ่งร่าง อวตารลงมา เป็นเต่า เพื่อรองรับแกนเขาพระสุเมรุ ไม่ให้ปั่นจนโลกทะลุ นั่นเอง นารายณ์อวตาร ปางนี้ชื่อ กูรมาวตาร ครับ

หน้าบันภาพ พระกฤษณะ ยกภูเขาโควรรธนะ ด้านในโคปุระชั้นที่ 2 ทิศเหนือ

อีกภาพหนึ่งคือ หน้าบัน พระกฤษณะ ยกภูเขาโควรรธนะ ซึ่ง เป็นที่นิยม ทำกันมากพอดู

พระกฤษณะ นั้น เป็น ภาคหนึ่ง ของพระนารายณ์ ที่อวตาร ลงมา ตามความเชื่อของ ฮินดู ไวษณพนิกาย ซึ่งนับเป็นเทพคุ้มครอง เหล่าโคบาล ( ผู้เลี้ยงวัว ) ในภาพนี้กล่าวถึงตอนที พระกฤษณะ นัน ได้มี บารมีมากขึ้น จนในที่สุดได้แนะนะให้ เหล่าโคบาล เลิก เคารพนับถือ พระอินทร์ แล้วหันมานับถือ ตนเอง รวมถึงให้เหล่าโคบาล นำเครื่องบวงสรวงมาบูชา เขาโควรรธนะแทน เมื่อพระอินทร์ทราบเข้า ก็กริ้วโกรธ บันดาลให้เกิด ฝนตก 7 วัน 7 คืน เหล่าโคบาลได้รับความเดือดร้อน จึงนำความมาแจ้งพระกฤษณะ พระกฤษณะ จึงแสดง อิทฤทธิ์ โดยการ ยกภูเขา โควรรธนะ เป็นร่ม บังฝนให้เหล่าโคบาลนั่นเอง ในภาพเราจะเห็น เป็นรูปคน ยืนท้าวเอว แล้วยกมือขวาขึ้น นั้น คือ พระกฤษณะ ส่วนภูเขาโควรรธนะ นั้น คือ รูปสี่เหลี่ยม รอบๆ หากสังเกตดีๆ จะพบว่า มีรูปวัว ตัวเล็กๆ อยู่ด้านล่าง 2 ตัว ด้วย

คงจะพอหอมปากหอมมมคอกันนะครับ กับเรื่องราวของทับหลัง ต่าง ๆ ลองชมภาพ ในมุมต่างๆ ดูนะครับ สำหรับวันนี้ ผมคงต้องขอลาไปก่อนนะครับ ก่อนจากไปก็อยากฝากเอาไว้สักนิด ครับ โบราณสถานต่างๆ นั้น มีที่มาที่ไป ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญา ของชนรุ่นก่อน โปรดช่วยกันเล็งเห็นถึงความสำคัญ ของสิ่งเหล่านี้นะครับ สวัสดีครับ

โคปุระชั้นที่1 ปรักหักพัง เหลือแต่โครงสร้าง

ทางเดินขึ้นลง ยากลำบากพอสมควร แต่คนสร้างลำบากกว่าเราเยอะ

เศษซากของ สิงห์ ที่แทบดูไม่ออกว่าแต่เดิมเคยงดงาม เพียงใด

บางช่วงเสาประดับกรอบประตู หักพัง แต่ก็แปลกตา น่าหวาดเสียวดี