อักษราหุ่นละครเล็ก Aksra Theatre อักษรา เธียเตอร์ การแสดง หุ่นละครเล็ก Puppet show

รายละเอียด
อักษราหุ่นละครเล็ก (AKSRA HOON LAKORN LEK) Aksra Theatre

อัศจรรย์เหมือนมีชีวิต (The Magical Come Alive) ที่ ‘โรงละครอักษรา’ “อักราหุ่นละครเล็ก” ยังคงอนุรักษ์รูปแบบและลีลาการเชิดตามแบบแผนเดิมของหุ่นละครเล็กที่ดัดแปลงมาจาก “หุ่นหลวง” อันเป็นหุ่นที่มีกลไกสลับซับซ้อน โดยหุ่นละครเล็ก 1 ตัว ต้องอาศัยการประสานใจของนักแสดงทั้ง 3 คน ที่แบ่งกันคุมส่วนแกน, แขน, ขา เพื่อให้ได้ท่วงท่าอันสอดคล้องพร้อมเพรียงกัน และลีลาพลิ้วไหวดุจมีชีวิต “อักษราหุ่นละครเล็ก” นำเสนออรรถรสบนเวทีการแสดงแบบคาบาเรต์ ให้ผู้ชมได้เพลิดเพลินกับฉากที่หยิบยกมาจากเรื่องราวที่หลากหลาย โดยการแสดงต่างๆถูกผสานเข้ากับการบรรเลงสดของวงออร์เคสตร้าเครื่องดนตรีไทย ผสมดนตรีสากลในชื่อวง “โจงกระเบน” ผนวกกับระบบเทคนิคด้านฉากและเวทีอันทันสมัยของโรงละครอักษรา การแสดงของ “อักราหุ่นละครเล็ก” จึงสามารถมอบอรรถรสบันเทิงอย่างใกล้ชิด

และมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่งในเวทีการแสดงเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งยุคนี้

รายละเอียดการแสดง

   


ฉากที่ ๑ ระบำครุฑ

จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลกมหาราช รัชกาลที่๑ เรื่อง “อุณรุฑ” สู่ระบำเทิดพระเกียรติสุดตระการตาด้วยเทคนิคแสง สี เสียง ผสานท่วงท่าร่ายรำอันงามสง่าของเหล่าครุฑ ผู้ยิ่งใหญ่อยู่บนฟากฟ้า และเข้าสวามิภักดิ์กับพระนารายณ์ เพื่อปกป้องรักษาความดีงามทั้งปวง เป็นการแสดงที่อำนวยพรชัยให้ผู้ชม มีความยิ่งใหญ่ มั่นคง แข็งแรง ตลอดกาล


ฉากที่ ๒ ศรีชัยสิงห์

ถักทอจินตนาการศิลปกรรมภาพจำหลักท่วงท่ารำของนาง อัปสราบายน มาเป็นหมู่ระบำนางอัปสรอันอ่อนช้อยงดงาม สอดประสานท่วงทำนองเพลงขอมชมจันทร์และเขมรเร็ว เพื่ออวยพรให้ผู้รับประสบความมั่งคั่ง และรุ่งเรืองดุจความฟูเฟื่องของสมัย ขอมบายน


ฉากที่ ๓ กินรีร่อน

วรรณกรรมตอนหนึ่งในเรื่อง “มโนราห์” เป็นฉากที่เหล่ากินรีเพลิดเพลินอยู่ในธรรมชาติเนรมิตรของป่าหิมพานต์ ด้วยกระบวนท่ารำที่มีความวิจิตร สวยงาม และอาภรณ์ของเครื่องแต่งกายที่ประณีตบรรจง อักษราหุ่นละครเล็กได้ดัดแปลงให้การแสดงดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น แต่ยังยึดแนวทางการร่ายรำและบทเพลงไว้คงเดิม เพิ่มเติมความเป็นสากลด้วยเครื่องดนตรีสากลที่ร่วมบรรเลงตลอดการแสดง


ฉากที่ ๔ วีรชัยลิง

ยกมาจากวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” ซึ่งมี หนุมาน เป็นแม่ทัพแห่งกองทัพวานรผู้เกรียงไกร ฉากนี้แสดงถึงการยกทัพตรวจพลก่อนเคลื่อนตัวสู่สมรภูมิ แสดงถึงความพร้อมพรักและความมีสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวแห่งกองทัพวานร


ฉากที่ ๕ ยกรบ

ถ่ายทอดความยิ่งใหญ่แห่งวรรณคดีอมตะเรื่อง รามเกียรติ์ เมื่อพญายักษ์ทศกัณฐ์จัดทัพเข้าประจัญบานกับฝ่ายพระราม แต่กลับโดนพระรามใช้ศรตีเจ็บปวดเจียนตายจนพ่ายแพ้ ต้องเลิกทัพกลับนครลงกาในที่สุด เป็นฉากที่มีความซับซ้อนของท่าโขนที่ถูกนำมาใช้กับกลไกของหุ่นละครเล็ก


ฉากที่ ๖ ระบำญี่ปุ่น

หยิบจินตลีลาจากแดนอาทิตย์อุทัยเคล้าบทเพลง คลาสสิก เล่าเรื่องของ โจโจ้ซัง เกอิชาแสนงามแห่งนางาซากิ ในมหาอุปรากรเรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย มาเพิ่มสีสันให้เวทีหุ่นละครเล็ก สร้างสรรค์ด้วยฉาก แสง สี เสียง ประกอบกับความสวยงามของระบำร่มในแบบฉบับเจแปน


ฉากที่ ๗ กลองยาว โปงลาง

ผู้แสดงร่วม ๔๐ ชีวิตเนรมิตความหรรษาของเทศกาลดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง (กลองยาว) ประชันดนตรีพื้นถิ่นภาคอีสาน (โปงลาง) สนุกสนานไปกับการแสดงอันครึกครื้น ของเหล่าหุ่นละครเล็กนักดนตรีพื้นบ้านที่ เยื้องกรายขับขานในท่วงท่าลีลาดังต้องมนต์มีชีวิต


ฉากที่ ๘ โนรา

จากการแสดงพื้นบ้านอันลือชื่อของภาคใต้ ที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะตัวที่จะบังคับส่วนต่างๆของร่างกายให้พริ้วไหวไป ตามจังหวะดนตรี มาผสมผสานกับการแสดงของหุ่นละครเล็ก โนราบนเวทีอักษรา จึงมีความพิเศษด้วยองค์ประกอบของนักแสดงที่มีทั้งคนและหุ่น ร่ายรำไปด้วยกัน


ฉากที่ ๙ อารีดัง

ระบำเกาหลีและบทเพลงคลาสสิค “อารีดัง” อันเป็นที่รู้จัก ถ่ายทอดโดยหุ่นละครเล็กที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ นำเสนอศิลปะการแสดงอันละเอียดอ่อนของท่ารำพัดแบบเกาหลีที่ตระการตา


ฉากที่ ๑๐ ระบำเจ็ดนางฟ้า

เป็นการแสดงของหุ่นที่มีการแต่งกายในรูปแบบนางฟ้า ของจีน ด้วยความอ่อนหวานงดงามของการแสดงชุดนี้ เป็นการอวยพรให้กับผู้คนให้ประสบแต่ความสุข คิดสิ่งใดขอให้สมความปรารถนา


ฉากที่ ๑๑ เกี้ยวนาง จับนาง

จากเรื่อง “รามเกียรติ์” ตัดมาจากตอน “นางลอย” ที่มีบทร้องแสนไพเราะ เป็นฉากที่ ทศกัณฐ์ออกโรง ด้วยความหลงไหลในความงามของนางสีดาแปลง จึงร่ายรำด้วยลีลาอันอ่อนช้อย มีท่าทีเขินอายชายตา เป็นทศกัณฐ์ในภาคที่พิเศษ เนื่องจากละทิ้งความฉกาจฉกรรจ์แห่งยักษ์ มาอยู่ในรูปลักษณ์ของความอ่อนโยน เพื่อจะเกี้ยวนางสีดา ซึ่งแท้จริงแล้วคือนางเบญจกาย ผู้เป็นหลานแปลงมา จากนั้น ตามท้องเรื่อง นางเบญจกายในรูปของนางสีดา ลอยน้ำไปลวงพระราม แต่ถูกจับได้ว่าเป็นตัวปลอม จึงเหาะหนีขึ้นบนท้องฟ้า และถูกหนุมานไล่จับจนได้ ภายหลังนางเบญจกายให้กำเนิดบุตรกับหนุมาน เกี้ยวนาง จับนาง ถือเป็นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องของบทกลอน ดนตรี ท่าร่ายรำ

และความสนุกสนานของการไล่ล่อต่อเชิงกันระหว่างตัวละคร


รายละเอียด โรงละคร

โรงละครอักษรา โรงละครอักษรา เป็นโรงละครขนาดกลาง 600 ที่นั่งในรูปเกือกม้า ภายใต้บรรยากาศตกแต่งที่รังสรรค์ด้วยแรงบันดาลใจจากศิลปะยุคบาโรก ที่สร้างความรู้สึกถึงอัครสถานแห่งสุนทรีย์ เพิ่มความวิจิตรด้วยลวดลายอันอ่อนช้อยจากสถาปัตยกรรมและศิลปะไทยอันงามสง่า สมบูรณ์แบบด้วยคุณสมบัติด้านเทคนิคฉากและเวทีของโรงละครชั้นนำ โรงละครอักษราถูกออกแบบให้สามารถมอบอรรถรสแห่งการแสดงได้อย่างใกล้ชิดทุกที่นั่ง และพร้อมสำหรับกิจกรรม บนเวทีทุกรูปแบบ นอกจากนั้นแล้ว โรงละครอักษรา ยังเป็นเป็นบ้านของ “อักษราหุ่นละครเล็ก” อีกด้วย ต่อยอดประสบการณ์ในโรงละครอักษรา ที่ Scene Shop ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และ งานออกแบบที่คัดสรรมาเป็นพิเศษ เพลิดเพลินกับอาหาร และเครื่องดื่มเบาๆเคล้าวิวมหานครบนระเบียง Scene Bar

ด้านหน้าโรงละคร