ร้อยเรียงเรื่องราว :: คมคำสมเด็จย่า

เนื่องในวโรกาสวันคล้ายพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าซึ่งเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของปวงชนชาวไทย ในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม ในโอกาสพิเศษเช่นนี้ผมจึงอยากบอกเล่าถึงพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งสมเด็จย่าทรงสร้างประโยชน์สุขแก่พสกนิกรของพระองค์มากมายล้นพ้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามเดิมว่า”สังวาลย์ ตะละภัฏ” พระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นบุตรีองค์ที่ ๓ ของพระชนกชูและพระชนนีคำ ซึ่งพระชนกถึงแก่กรรมตั้งแต่พระองค์มีพระชนมายุได้เพียง ๓ พรรษา และต่อมาสูญสิ้นพระชนนีเมื่อพระชนมายุ ๙ พรรษา ด้านการศึกษา เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงศึกษาในโรงเรียนวัดอนงคาราม แผนกเด็กนักเรียนหญิง ต่อมาทรงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนของ ม.จ.มัณฑารพกมาสน์ โรงเรียนแถวพระบรมมหาราชวังและโรงเรียนสตรีวิทยาตามลำดับ ต่อมา ในปีพ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงหมั้น นางสาวสังวาลย์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ พระนามตอนนั้นคือ “หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา” พระราชภาระทางครอบครัว นับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงเป็นพระชนนีของพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระราชชนนีใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ และ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน

พระองค์ทรงอนุศาสน์สั่งสอนทั้งการศึกษาและความประพฤติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ตรัสเล่าเรื่องต่างๆ ดังนี้ การถวายพระกษิธารา(การเลี้ยงลูกด้วยนม) “แม่ก็เลี้ยงข้าพเจ้านานเกือบจะถึงปีประมาณ ๙ ถึง ๑๐ เดือน ส่วนรัชกาลที่ ๘ นั้นก็ได้ทำ เช่นเดียวกัน ส่วนรัชกาลที่ ๙ ทรงเลี้ยงอยู่เพียง ๓ เดือน” การเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแก่พระญาติ “สมเด็จพระพันวัสสาฯ จะไม่ทรงเลี้ยงและแนะนำในชีวิตประจำวัน แต่จะทรงแนะนำในสิ่งที่สำคัญๆ เพราะทรงเกรงใจแม่ ทรงเห็นแม่เลี้ยงอย่างมีระเบียบ ก็คือการเลี้ยงแบบที่ถูกแล้ว” การลงพระอาญา “ในการทำผิดครั้งแรกโดยไม่เข้าใจ ท่านจะอธิบายและใช้เหตุผล ถ้าอธิบายเข้าใจกันดีแล้ว ไปทำเช่นนั้นอีก ท่านจะประกาศว่าอย่างนี้ต้องลงโทษแล้ว” การตรงต่อเวลา “ทุกอย่างที่ทำต้องทำตามเวลา..ต้องตรงเวลา และเรื่องการรับประทานอาหารก็ต้องเป็นเวลา เหมือนกันต้องมีระเบียบในด้านนี้” การประหยัด

“ในการประหยัดก็ได้จัดให้มีเงินค่าขนม..สัปดาห์ละครั้งตามอายุ และก็ได้ไม่มากนัก แต่ถ้าจะซื้อหนังสือหรือของเล่น ท่านก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ

พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อชาวไทยและประเทศชาตินั้นใหญ่หลวงมาก เพราะตั้งแต่ทรงอภิเศกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงมีพระอุตสาหวิริยะสูงในการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่เหนือสุด จรด ใต้สุด พระราชกรณียกิจต่างๆ อาทิเช่น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คฌะอาสาสมัคร ประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ออกปฏิบัติงานปีละ ๑๒-๑๓ ครั้ง โดยมีหลักการปฏิบัติงาน คือเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งพระองค์ทรงรับพระราชภาระด้านยาและเวชภัณฑ์ เนื่องจากอาสาสมัครเหล่านี้ไม่มีเบี้ยเลี้ยงหรือเงินจากมูลนิธิ แพทย์ทางวิทยุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดเกล้าให้ใช้วิทยุรับส่ง สำหรับแพทย์ใช้ติดต่อส่งการผู้ป่วยได้โดยตรง ดามสถานที่ห่างไกล นับเป็นการปฏิบัติการของแพทย์ที่ใหม่ที่สุดสำหรับเมืองไทย โครงการรักษาโรคเฉพาะทาง เพื่อให้การบริการผู้ป่วยมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทรงจัดให้มีโครงการรักษาโรคเฉพาะทางขึ้น เช่น โรคที่เกี่ยวกับความพิการ เป็นต้น โครงการสาธารณสุข พอ.สว. เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๖ พรรษา มูลนิธิได้เห็นควรจัดณรรงค์ทางทันตสาธารณสุขขึ้นในพื้นที่จังหวัด พอ.สว. ๔๘ จังหวัด ซึ่งได้มีผู้นำเสนอว่าควรทำเช่นนี้ทุกปี ทุนอุดหนุนการวิจัย มูลนิธิ พอ.สว. ได้มีโครงการเพิ่มขึ้นคือให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่บุคคล สถาบัน หน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนสมรรถภาพทางวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาการต่างๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โครงการเฉพาะกิจพัฒนาดอยตุง เป็นโครงการเพื่อพัฒนาดอยตุงให้มั่นคง โดยกองทัพบกจึงอนุมัติจากรัฐบาลจัดทำโครงการขึ้นในพื้นที่ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ไร่ นอกจากนั้น พระองค์ทรงมอบให้กรมชลประทานก่อสร้างพระตำหนักด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงงานที่รักและพอพระทัย พระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่บนดอยตุง เพื่อปลูกป่าและพัฒนาพื้นที่หลายแห่ง ให้สมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ห่างไกล ทรงเสด็จเยี่ยมอยู่มิได้ขาด ในวันอังคารที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี่ทรงได้เสด็จสวรรคต แต่พระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงปรารถนาให้ชาวไทยมีความสุข ยังคงสถิตถาวรอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรทั่วไทยตลอดกาล สุดท้ายนี้ผมขออัญเชิญ คมคำ พระราชดำรัสของสมเด็จย่า เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี เปรียบได้กับต้นไม้ที่เจริญงอกงาม ได้รับการดูแลเอาใจใส่ พรวนดินใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ เผื่อท่านใดจะน้อมรับไปยึดปฏิบัติ ซึ่งมีความว่า

“ต้นไม้นี่มันคล้ายๆ คน ต้นบานชื่นนี้ฉันไม่ได้ปลูกด้วยเมล็ด แต่ไปซื้อต้นเล็กๆ ที่เขาเพาะแล้วมาปลูก แต่มันก็งามและแข็งแรงดี เพราะอะไรหรือ เพราะคนที่เขาขายนั้นเขารู้จักเลือกเมล็ดที่ดี และดินที่เขาใช้เพาะก็ดีด้วย นอกจากนั้นเขายังรู้วิธีว่าจะเพาะอย่างไร ซึ่งฉันไม่สามารถทำได้เช่นเขา เมื่อฉันเอามาปลูกฉันต้องดูแลใส่ปุ๋ยเสมอ เพราะดินที่นี่ไม่ดีต้องคอยรดน้ำพรวนดินบ่อยๆ ต้องเอาหญ้าและต้นไม้ที่ไม่ดีออก เด็ดดอกใบที่เสียๆ ทิ้ง คนเราก็เหมือนกัน ถ้ามีพันธุ์ดีเมื่อเป็นเด็กก็แข็งแรงฉลาด เมื่อพ่อแม่คอยสั่งสอน เด็ดเอาของที่เสียออก และหาปุ๋ยที่ดีใส่อยู่เสมอ เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนที่เจริญและดีเหมือนกับต้นและดอกบานชื่นเหล่านั้น”

คมคำ พระราชดำรัส

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย