ร้อยเรียงเรื่องราว :: คติไหว้พระธาตุประจำปีเกิด

คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด

ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับปีเกิดและการนับอายุของแต่ละคนเป็นที่รับรู้กันแพร่หลาย ในแต่ละปีนักษัตรจึงกำหนดด้วยสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประจำปีเกิด หรือที่เรียกว่า ๑๒ นักษัตร สำหรับในดินแดนภาคเหนือของไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรยังสัมพันธ์กับคติการบูชาพระบรมธาตุ ดังปรากฏเป็นประเพณีการชุธาตุหรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด โดยครั้งหนึ่งในชีวิตควรมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเพื่อความเป็นสิริมงคล ในคติล้านนาพระธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิดได้แก่

* นมัสการพระธาตุประจำปีชวด พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่

* นมัสการพระธาตุประจำปีฉลู พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
* นมัสการพระธาตุประจำปีขาล พระธาตุช่อแฮ แพร่
* นมัสการพระธาตุประจำปีเถาะ พระธาตุแช่แห้ง น่าน
* นมัสการพระธาตุประจำปีมะโรง พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่
* นมัสการพระธาตุประจำปีมะเส็ง พระศรีมหาโพธิหรือต้นโพธิ์
* นมัสการพระธาตุประจำปีมะเมีย พระธาตุชเวดากอง พม่า
* นมัสการพระธาตุประจำปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
* นมัสการพระธาตุประจำปีวอก พระธาตุพนม นครพนม
* นมัสการพระธาตุประจำปีระกา พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
* นมัสการพระธาตุประจำปีจอ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
* นมัสการพระธาตุประจำปีกุน พระธาตุดอยตุง เชียงราย

คำว่า พระธาตุ มีความหมายสองนัยคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่หรือพระเจดีย์ที่มีพระบรมธาตุบรรจุ โดยแต่ละแห่งจะมีตำนานที่เล่ามูลเหตุการณ์สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งสัมพันธ์กับการเสด็จโปรดสัตว์ของ

พระพุทธเจ้าในดินแดนต่าง ๆ สถานที่ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เหล่านี้มักจะกลายเป็นเมืองสำคัญในเวลาต่อมา

ลักษณะของพระบรมธาตุ ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่บรรยายไว้ในตำนานมีลักษณะเหมือนถั่วแตก หรือข้าวสารหัก หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาด กลมเกลี้ยงขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีสีทองอุไร สีแก้วผลึกหรือแก้วมุกดา สีดอกพิกุล บางองค์มีรูทะลุได้ ตามปกติจะบรรจุพระบรมธาตุไว้ใต้ฐานเจดีย์ หรือเรือนธาตุ โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถนำออกมาได้

เว้นแต่พระธาตุศรีจอมทอง และนอกจากการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีการบูชาพระธาตุของพระอรหันต์หรือพระสาวกด้วย

การบูชาพระบรมธาตุ
สมัยโบราณมักจะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอมและข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาด อาจเจือด้วยน้ำหอม เนื่องจากองค์พระบรมธาตุส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์ พระธาตุบางองค์จะต้องใช้น้ำจากแหล่งพิเศษอย่างเช่น การสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทองใช้น้ำจากน้ำแม่กลางเจือด้วยน้ำหอมหรือแก่นจันทน์

กล่าวได้ว่าคติการบูชาพระธาตุปีเกิดและตำนานที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงการแพร่กระจายของพุทธศาสนาในดินแดน ไทยมาแต่โบราณ นอกจากนี้การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ยังสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนเมืองต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยที่มีกลุ่มชนมากมายอาศัยอยู่ โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจ

การเดินทางท่องเที่ยวไหว้พระธาตุปีเกิดมีความสะดวกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระธาตุส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ จึงสามารถจัดเส้นทางสำหรับไหว้พระธาตุในจังหวัดใกล้เคียงได้ เช่น เชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง หรือเชียงราย – น่าน – แพร่ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้อิ่มใจในบุญกุศล ทว่ายังได้ชมศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย

ร้อยเรียงเรื่องราว จะนำเสนอตำนานของพระธาตุแต่ละแห่ง ในโอกาสต่อไป