พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม Sanamchan Palace Sanam Chandra Palace Nakorn Pathom Thailand


ฉนวนทางเดินเชื่อมต่อ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เอกลักษณ์ของวังนี้

“…เยี่ยม วังสนามจันทร์ล้วน คนึง ติดตรึงซาบซึ้ง กมล เสมือนดั่งหนึ่งมาเฝ้า พระมงกุฏเกล้าเบื้องบน ทุกคนเต็มตื้นตื่นใจ
อนุสาวรีย์ ความซื่อ ย่าเหล เลื่องลือ ทั่วไป เป็นแต่เพียงสุนัขซื่อ สับใส ถึงตัวจะตาย ความดีไม่ ตายตาม…”

        ตลิ่งว่าตลิ่งหยุดร้องดีกว่าค่ะเดี๋ยวตลิ่งจะทำเพลงนครปฐมของ คุณประยูร เวชประสิทธิ์ เสียไปซะก่อน ประทับใจกับบรรยากาศ จนต้องกลับบ้านมาร้องเพลงต่อ ใช่แล้วค่ะ ตลิ่งไปพระราชวังสนามจันทร์มาค่ะ เที่ยวจบแต่ความประทับใจยังคงอยู่ มาฟังเพลงต่อ เอ๊ย!!! มาฟังตลิ่งเล่ากันต่อดีกว่าค่ะ        ขอย้อนกลับไป เมื่อครั้งขณะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.๖)ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรวุธ สยามมงกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองนครปฐมบ่อยครั้ง และพอพระราชหฤทัยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการก่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ ณ บริเวณเนินปราสาท  ที่ซึ่งสันนิษฐาน ว่าเป็นที่ตั้งของพระราชวังกษัตริย์ แต่เดิมในสมัยก่อน  ( เดิมนครปฐมเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี ค่ะ) โดยพระองค์ทรงจัดซื้อที่ดินด้วยทุนส่วนพระองค์เอง ชื่อสนามจันทร์นั้นมาจาก “สระน้ำจันทร์” ซึ่งเดิมเป็นสระน้ำใหญ่ที่สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนาพราหมณ์ที่ตั้งอยู่บริเวณนั้น ความร่มรื่นของแมกไม้ ความเก่าแก่แต่ยังคงไว้ซึ่งความสวยงาม ทำให้ตลิ่งคิดว่าตัวเองหลุดมาอยู่อีกยุคนึงซะแล้วอีกค่ะ แอบหลงคิดไปไม่ได้ว่าตัวเองคือนางเอกละครย้อนยุค period สักเรื่องก็ว่าได้
ตลิ่งเดินเที่ยวชม พระที่นั่งพิมานปฐมเป็นที่แรก ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารอิฐปูนสองชั้นสร้างตามแบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เข้ากับสภาพอากาศเมืองไทย มีช่องระบายลม ระเบียงลูกกรง และ เชิงชาย ฉลุลวดลายประณีตสวยงาม เดิมใช้เป็นที่ประทับที่ทรงพระอักษร เสด็จออกขุนนาง รับแขกเมือง และให้ราษฎรเข้าเฝ้า ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการส่วนหนึ่งของส่วนราชการศาลากลางจังหวัดนครปฐม และเมื่อเดินต่อเนื่องไป ก็จะพบกับพระที่นั่งอภิรมย์ฤดีค่ะ เป็นตึกสองชั้นเช่นกัน เคยเป็นที่ทำการส่วนหนึ่งของอัยการจังหวัด

แต่ปัจจุบันทางจังหวัดได้ส่งคืนแก่กรมศิลปากรแล้วค่ะ

ส่วนเชื่อมต่อของ พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี และ พระที่นั่งวัชรีรมยา

ต่อมาเป็นพระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นพระที่ทรงไทยสองชั้น หลังคาคล้ายอุโบสถมีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ มีชานชาลาเชื่อมต่อกับพระท่นั่งพิมานปฐม เดิมใช้เป็นที่บรรทมและเป็นที่ทรงพระอักษร ปัจจุบันเป็นที่ทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ติดๆ กันกับพระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นพระที่นั่งสามัคคีมุขอำมาตย์ค่ะ มีลักษณะเป็นท้องพระโรงใหญ่ทรงไทยชั้นเดียว

การตกแต่งภายในและหลังคาเหมือนพระที่นั่งวัชรีรมยา เดิมใช้เป็นที่ซ้อมโขนและละคร

สืบเนื่องจากใน ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน มีการฟื้นฟูศิลปะ
และการละคร อย่างมาก ทั้งนี้เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งจะขอกล่าวในส่วนท้ายค่ะ

พระที่นั่งวัชรีรมยา

จากนั้นตลิ่งเดินผ่านเทวาลัยคเณศร์ก็ต้องยกมือขึ้นมาไหว้สาธุเพื่อความเป็นสิริมงคลเสียหน่อย เทวาลัยคเณศร์เป็นศาลเทพารักษ์ สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ ประดิษฐานพระเคณศ หรือที่คุ้นหูกันว่าพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ ศิลปวิทยาการ

การประพันธ์และเป็นใหญ่เหนือความขัดข้อง ตลิ่งเองก็มีพระพิฆเนศองค์เล็กบูชาพกติดตัวตลอดเวลาเช่นกันค่ะ

 

  

รูปหล่อ ย่าเหล ( JARLET ) หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน

และมาต่อกันที่สำคัญที่ทุกคนเคยได้ยินชื่อและน่าจะเป็นที่รู้จักกันดีค่ะ อนุสาวรีย์ย่าเหล ตั้งอยู่หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงย่าเหลสุนัขทรงเลี้ยง ที่ทรงโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความเฉลียวฉลาด และซื่อสัตย์จงรักภักดีเป็นเหตุให้เกิดความอิจฉาในหมู่ข้าราชบริพารจนถูกลอบยิงตาย

โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนไว้อาลัยแก่ย่าเหลจารึกไว้ด้านข้างของอนุสาวรีย์ด้วย

อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตร์

ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย

โอ้อาไลยใจจู่อยู่ไม่วาย

กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา

ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู

เพราะเขาดูเพื่อนเห็นแต่เป็นหมา

เขาดูแต่เปลือกนอกแห่งกายา

ไม่เห็นฦกตรึกตราถึงดวงใจ

เพื่อนเป็นมิตร์ชิดกูอยู่เนืองนิตย์

จะหามิตร์เหมือนเจ้าที่ไหนได้

ทุกทิวาราตรีไม่มีไกล

กูไปไหนเจ้าเคยเป็นเพื่อนทาง

ช่างจงรักภักดีไม่มีหย่อน

จะนั่งนอนยืนเดินไม่เหินห่าง

ถึงยามกินเคยกินกับกูพลาง

ถึงยามนอน ๆ ข้างไม่ห่างไกล

อันตัวเพื่อนเหมือนมนุษสุจริต

จะผิดอยู่แต่เพียงพูดไม่ได้

แต่เมื่อกูใคร่รู้ความในใจ

กูมองดูรู้ได้ในดวงตา

โอ้อกกูดูเพื่อนอยู่หรัด ๆ

เพื่อนมาพลัดพรากไปไม่เห็นหน้า

กูเผลอ ๆ ก็เชง้อเผื่อเพื่อนมา

เสียงกุกกักก็ผวาตั้งตามอง

อันความตายเป็นธรรมดาโลก

กูอยากตัดความโศรกกระมลหมอง

นี่เพื่อนตายเพราะผู้ร้ายมันมุ่งปอง

เอาปืนจ้องสังหารผลาญชีวี

เพื่อนมอดม้วยด้วยมือทุรชน

เอารูปคนสรวมใส่คลุมใจผี

เป็นคนจริงฤๅจะปราศซึ่งปรานี

นี่รากษสอัปปรีปราศเมตตา

มันยิงเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย

แทบจะม้วยชีวังสิ้นสังขาร์

จะหาเพื่อนเหมือนเจ้าที่ไหนมา

ช้ำอุราอาไลยไม่วายวัน

เมื่อยามมีชีวิตร์สนิทใจ

ยามบรรไลยลับล่วงดวงใจสั่น

ด้วยอำนาจจงรักภักดีนั้น

ขอให้เพื่อนขึ้นสวรรค์สำราญรมย์

ถึงจะมีหมาอื่นมาแทนที่

กูก็รักเพื่อนนี้เป็นปฐม

ที่ไหนเล่าจะสนิทและชิดชม

ที่ไหนเล่าจะนิยมเท่าเพื่อนรัก

ถึงแม้จะไม่มีรูปนี้ไว้

รูปเพื่อนฝังดวงใจกูตระหนัก

แต่รูปนี้ไว้เป็นพยานรัก

ให้ประจักษ์แก่คนผู้ไมตรี

เพื่อนเป็นเยี่ยงอย่างมิตร์สนิทยิ่ง

ภักดีจริงต่อกูอยู่เต็มที่

แม้คนใดเป็นได้อย่างเพื่อนนี้

ก็ควรนับว่าดีที่สุดเอย

จากนั้น ตลิ่งก็เดินเข้าชมพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท ศิลปะแบบเรอเนซองส์ ของฝรั่งเศสและ ฮาล์ฟ ทิมเบอร์ ของอังกฤษ ทาด้วยสีไข่ไก่มุงหลังคาสีแดง ที่พระตำหนักนี้ พระองค์ทรงโปรดที่จะใช้เป็นที่ประทับตลอดช่วงปลายรัชกาล เมื่อเสด็จมายังพระราชวังสนามจันทร์ ภายใน มีห้องบรรทม ห้องทรงพระอักษร ห้องสรง นอกจากนี้เมื่อมีการซ้อมรบของเสือป่า พระองค์จะทรงใช้พระตำหนักนี้เป็นที่ประทับอีกด้วย ตัวพระตำหนักนั้นมีสะพานเชื่อมต่อ ไปยัง อีกพระตำหนักหนึ่ง ซึ่งก็คือ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ ซึ่ง พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น ด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง My Friend Jarlet ซึ่งพระองค์ได้แปลเป็นชื่อภาษาไทยว่า มิตรแท้ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ นั้น มีลักษณะเป็นพระตำหนัก 2 ชั้นสร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง สร้างแบบศิลปะนีโอคลาสสิค ซึ่งยังมีเอกลักษณ์ คือฉนวนทางเดิน เชื่อมระหว่าง พระตำหนักทั้งสอง ที่มีหน้าต่างกระจกตลอดทางเดิน และตรงกลางยังมีโถงเล็กๆ เอาไว้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

เวลาเดินบนฉนวนทางเดินนี้เมื่อมองออกไปจะเห็นบรรยากาศของคูน้ำโดยรอบสวยงามมากค่ะ

เวลาเข้าชมได้หมดลง ยังเหลืออีกสอง พระตำหนักสำคัญ ซึ่งก็คือพระตำหนักทับแก้ว และ พระตำหนักทับขวัญ น่าเสียดายตลิ่งเข้าชมที่นี่ช้าไป
สำหรับวันนี้ ตลิ่งก็ขอฝาก มุมมองสักนิด

ในขณะนี้ บ้านเมืองของเรากำลัง นิยมสร้างสิ่งก่อสร้างไปทางตะวันตก และดูจะกลายเป็นที่นิยมในการท่องเที่ยว เสียด้วย หากลองมองดีๆแล้ว พระราชวังที่มีอาคาร โบราณสถานเหล่านี้ หลายคนอาจคิดว่า เราเลียนแบบฝรั่งกันอย่างปัจจุบัน แท้จริงแล้วเปล่าเลยค่ะ เรารับเอารูปแบบของเขา มาปรับใช้ ให้สอดคล้องกับสภาพ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศและวิถีชีวิตของเรา หากท่านชื่นชอบการท่องเที่ยว อาคารตะวันตก แล้วหละก็ ตลิ่งขอเชิญชวน ให้ลองเที่ยว พระราชวังและ อาคารเก่าของเราแต่เดิมดูบ้างค่ะ สัมผัสความรู้สึกที่ได้จะต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความมีวิถี ความละเอียดอ่อน ของตัวอาคาร นั้น สอดคล้องกับความเป็นไทยในตัวเราได้อย่างดี ความรู้สึก ยากที่จะบรรยายผ่านตัวหนังสือ

คงต้องเชิญชวนให้ทุกท่านไปสัมผัสด้วยตนเองค่ะ

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์

พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์

เกือบลืมไปค่ะ หลายๆท่านอาจไม่เข้าใจว่า เหตุใดในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องมีการฟื้นฟู ศิลปะ วัฒนธรรม ความเป็นไทยอย่างมาก เป็นเพราะสายพระเนตรอันยาวไกล ของพระองค์ค่ะ เนื่องจากอิทธิพลการแผ่ขยาย อาณานิคมของ ชาติตะวันตกมีบทบาท ส่งผลต่อชาติสยามของเรา อย่างที่หลายๆท่านคงทราบดี ดังนั้น การสืบสานความเป็นไทย และปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญ น่าเสียใจมากที่ คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจนะคะ เพราะหากมองและ สรุปความคิดเอาเองโดยผิวเผิน ก็อาจจะหลงลืมไปว่า พระองค์ได้เตรียมสิ่งต่างๆไว้ เพื่อให้ ชาติสยาม ก้าวมาสู่ความเป็นไทยในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่อง กาพย์กลอน การประพันธ์นะคะ หลายคนอาจลืมไปว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริ

สร้าง เมืองประชาธิปไตย “

ดุสิตธานี” เพื่อจำลองการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย หรือแม้แต่ กิจการ เสือป่า ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่า วันหนึ่ง จะกลายมาเป็น ยุวชนทหาร และ ได้ปกป้องบ้านเมือง อย่างเหตุการณ์ ที่สะพานท่านางสังข์ จ.ชุมพร ซึ่ง กองทัพญี่ปุ่นได้ทำการยกพลขึ้นบก สิ่งเหล่านี้ ล้วนเกิดจากพระอัจฉริยะภาพ และ สายพระเนตร อันยาวไกลโดยแท้ ทางด้านการประพันธ์ พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งทางองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณ ในฐานะที่ทรงเป็นนักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละคร ซึ่งมีผลงานพระราชนิพนธ์ไว้จำนวนมาก ทั้งเรื่องราว ที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ และ แปล จากกวีชื่อดัง เป็นกาพย์ กลอนแบบไทย นอกจากสุภาษิต สอนหญิง ที่ตลิ่งชื่นชอบเป็นพิเศษแล้ว ตลิ่งขอยกเอา บทหนึ่ง จากเรื่อง โรเมโอ และ จูเลียต ( Romeo & Juliet ) ซึ่งพระองค์ทรงประพันธ์ ได้ไพเราะมาก เป็นตอนที่ ภาตา ลอว์เรนซ์

ขณะ กล่าวถึง ดอกไม้ ที่เอามาสกัดยาพิษ และเปรียบเปรยถึง สิ่งต่างๆ ทีให้คุณและ โทษ บนโลกมนุษย์

อ้า คุณวิเศษมวลมีอยู่มากอยู่มายครัน

ในหญ้าพฤกษะพรรณ ศิลาอีกสรรพคุณ

เพราะว่าในโลกนี้ มิมีสิ่งใดทารุณ

จนปราศะจากคุณสำหรับโลกรับผลดี

หรือสิ่งใดดีเลิด แต่หากใช้ไม่ถูกที

กลับร้ายไปก็มีเพราะเหตุผิดทำนองใช้

คุณนั้นแม้ใช้ผิดก็อาจกลายเป็นโทษได้

และโทษบางอย่างไซร้ อาจงามเพราะประพฤติดี

   
บทประพันธ์ของ William Shakespeare 
O, mickle is the powerful grace that lies   
In herbs, plants, stones, and their true qualities
For nought so vile that on the earth doth live 
But to the earth some special good doth give, 
Nor aught so good but strain’d from that fair use 
Revolts from true birth, stumbling on abuse

คงพอได้หอมปากหอมคอกันบ้างนะคะ สำหรับการพาเที่ยวพระราชวังสนามจันทร์ของตลิ่ง สำหรับวันนี้ขอตัวลาไปก่อนค่ะ สวัสดีค่ะ

บทความอื่นๆ


+ พระปฐมเจดีย์ ยามค่ำคืน

แกลลอรี่ รูปภาพ

อัลบัม จังหวัด นครปฐม

ข้อมูลจังหวัด


+ ข้อมูลท่องเที่ยว นครปฐม