สวัสดีครับ วันนี้นายเกริกเกียรติ จะขอพาทุกท่านท่องเที่ยวไปยัง พระราชวังฤดูร้อน ที่เก่าแก่ของไทย หลายๆท่าน ก็คงจะทราบดีว่า ในประเทศไทยนั้น มีพระราชวังต่างๆมากมาย และแต่ละที่ก็ล้วนมีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป สำหรับ พระราชวัง บางปะอิน ที่กระผมจะขอพาทุกท่านไปเยือนในวันนี้ ก็นับเป็นพระราชวัง เก่าแก่ ที่มีมาแต่โบราณ กล่าวคือ ก่อนที่เราจะเห็นเป็นพระราชวัง สวยสดงดงาม อย่างในปัจจุบันนี้ เดิมทีบริเวณพื้นที่แห่งนี้ก็เคยมีพระที่นั่ง มาแต่ครั้งสมัย กรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงอันมั่งคั่งของไทย ในอดีต จะนึกไปก็คงมีความคล้ายกับ พระราชวัง สนามจันทร์ จ. นครปฐม ที่สร้างขึ้น บนพื้นที่ที่เคยเป็นวังเดิม ของกษัตริย์โบราณ
ท่านสามารถ อ่านบทความ ท่องเที่ยวพระราชวังสนามจันทร์ ได้ที่นี่
หอเหมมณเฑียรเทวราช
ที่กล่าวว่า บริเวณนี้เป็นพระราชวังเดิมครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอจะระบุได้ว่า บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ พระที่นั่ง ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งพระองค์ทรงโปรดให้สร้างขึ้น และให้ชื่อว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพอาสน์ และเมื่อกาลเวลาผ่านไป พระที่นั่งแห่งนี้ก็ได้ถูกทิ้งร้างไปด้วยหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก จากนั้นเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จประพาส ในบริเวณนี้ทรงโปรดเกล้าให้ สร้างพระที่นั่งเพิ่มเติมขึ้น และ มีการสร้างต่อเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อชำระค่าบัตรผ่านประตูเพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่เรียบร้อย เราก็สามารถเดินเข้าชมพื้นที่ของพระราชวังได้โดยทั่ว หรือจะเลือก นั่งรถกอล์ฟไฟฟ้า เพื่อเที่ยวชมแทนการเดินก็ได้ สำหรับจุดแรก เห็นจะเป็น หอเหมมณเฑียรเทวราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้าง ถวายแด่ พระเจ้าปราสาททอง มีลักษณะเป็นปรางค์ขอม อยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ ภายในองค์ปรางค์ ในฝั่งตรงกันข้ามนั้น คือ สภาคารราชประยูร เป็นที่พัก เจ้านายฝ่ายหน้า และ ข้าราชบริพาร มีลักษณะ เป็นอาคารสองชั้น ทาสีเหลือง มุงหลังคาสีแดง สไตล์โคโลเนียลที่ประยุกต์ ให้เข้ากับสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเป็น หนึ่งในเอกลักษณ์ของ อาคาร สิ่งก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไทยมีการปรับตัว และนำเอาสไตล์การก่อสร้าง อาคารแบบฝรั่ง เข้ามาผสมผสานได้อย่างลงตัวสวยงาม โดดเด่น มีอารยะ และ เป็นเอกลักษณ์ในแบบไทยๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงบริบท ทางการเมือง ระหว่างประเทศในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก สถาปัตยกรรมต่างๆนั้นมีส่วนช่วยชี้วัดความเจริญของชาติที่ ทำให้เหล่านักล่าอาณานิคม ต้องทบทวนความคิด ว่าไทยเป็นประเทศไร้อารยะหรือไม่ ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นเพราะสายพระเนตรอันยาวไกล ของ รัชกาลที่ 5 ที่ทรงดำเนิน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างลึกซึ้ง ปัจจุบัน สภาคารราชประยูร เป็นที่จัดแสดง สิ่งของที่มีผู้ทูลเกล้าถวาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสต่างๆ
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ กลางสระน้ำ
เดินต่อมาเรื่อยๆ เราก็จะพบทางแยก ซึ่งเป็นเวิ้งสระขนาดใหญ่ มีกระโจมแตร ตั้งอยู่ริมสระ และ มีสะพานทอดยาวข้ามไปอีกฝั่ง พลางให้นึกถึงกระโจมแตร ที่พระราชอุทยานสราญรมย์ ที่กรุงเทพขึ้นมาทันที ณ จุดนี้จะมองเห็นพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ อยู่กลางสระ สำหรับพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ นั้น รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้จำลองแบบมาจาก พระที่นั่ง อาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งปัจจุบันยังมีทรงนี้อีกหลัง อยู่ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เนื่องจากได้จำลองไปแสดงในงานมหกรรมนานาชาติ พ.ศ. 2501
รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามพระที่นั่งหลังนี้ว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ ตามนามเดิมของพระที่นั่ง ที่พระเจ้าปราสาททองทรงสร้าง
พระที่นั่งอาภรพิโมกข์ปราสาท ณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ต้นแบบของ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์
หลังจากชมความงามของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์แล้ว ผมก็เดินต่อมายัง พระที่นั่งโวรภาษพิมาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งชั้นเดียว มีลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรม นีโอคลาสสิค พระที่นั่งองค์นี้รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นบริเวณที่ประทับเดิมของ รัชกาลที่ 4 ภายในมีท้องพระโรงสำหรับใช้ในการออกเสด็จว่าราชการ พระที่นั่งนี้ เคยเป็นกรมที่ดินในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องด้วยปัญหา การจัดสรร และ ปักปันเขตที่ดิน จึงทรงโปรดให้มี กรมที่ดินขึ้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม เราจะเห็นได้ถึงพระอัจฉริยภาพ และสายพระเนตรที่ยาวไกล นอกเหนือจากการจัดให้เกิดความเรียบร้อยในบ้านเมืองแล้ว พระองค์ ยังทรงศึกษาและทดลองเรื่องประชาธิปไตย อีกด้วย ซึ่งกล่าวมาถึง ณ ทีนี้ก็คงต้องขอให้เรามองย้อนกลับไป ถึงยุคก่อน ที่ชาติไทย ต้องประสบการคุกคามจาก ต่างชาติ และ ภาวะสงครามโลก พระองค์ยังทรงเป็นนักชาตินิยม ที่สนับสนุนให้เกิดความรัก และ หวงแหน ในความเป็นไทยอีกด้วย เป็นที่น่าเสียดายที่การตีความทางประวัติศาสตร์ และ การให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลัง ในไทย มีน้อยเกินไปจนไม่ได้ใส่ใจ บริบท หรือ ความเป็นไปในสภาพ ที่ยากลำบากของการป้องกันการรุกราน จากภายนอกในยุคนั้น ทำให้เราไม่รู้ว่า กว่าจะมาเป็นไทย อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นเอกราช ของไทย ถือว่าเกรียงไกรในแถบเอเซีย ถ้าไม่ใช่
ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เราก็คงต้องตกเป็น ข้าต่างด้าว ไปเสียแน่แท้ !