การเดินทางจากกรุงเทพของผม มิได้แวะพักมากนักจึงทำให้ถึงบริเวณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในช่วงสายๆประมาณ 10 โมงเช้า ไม่รอช้า รีบขับเข้าอุทยานกันเลย สำหรับทางเข้าของอุทยานนั้น สามารถ เข้าได้หลายทาง เนื่องจาก เขตอุทยานแห่งชาติ เขาสามร้อยยอดนี้ ครอบคลุมในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ของชาวบ้านด้วย จึงมีถนนตัดผ่านมากมาก นักท่องเที่ยวบางท่านอาจ ” ลักไก่” ขับผ่านด่าน ไปเลยโดยไม่แวะ ชำระค่าธรรมเนียม สำหรับตัวผม ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ นำมาปรับปรุง สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นสมบัติชาติ เป็นต้นทุนที่จะดึงดูด นักท่องเที่ยวต่างชาติให้นำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยของเรา บางท่านอาจคิดว่า ก็เราเป็นคนไทย เป็นเจ้าของ ทำไมต้องจ่ายด้วย ??
ด้วยเหตุผลนี้ ยิ่งสมควรจ่ายอย่างยิ่งครับ เพราะ”เรา” เป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน จึงควรบำรุงรักษา เพื่อตกทอดสู่ลูกหลานต่อไป
เรือหางยาว พาเรามาสู่บริเวณทางขึ้น ถ้ำพระยานคร
เมื่อเดินทางมาถึง บริเวณวัดบางปู ซึ่งเป็นจุดลงเรือ สู่ถ้ำพระยานคร ผมก็ติดต่อเรือหางยาว ซึ่งมีชาวบ้านจอดรอคอยบริการนักท่องเที่ยว
อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีเส้นทางอื่นๆ เช่นบริการพาชมเกาะนมสาว เกาะโครัม ฯลฯ ในบริเวณนั้นอีกด้วยหากท่านใดที่มีแรงกำลังเหลือเฟือ ก็อาจเลือกเดินเท้า ซึ่งการเดินเท้านั้น จะเดินอ้อม แหลมศาลา ไปสู่จุดขึ้นถ้ำที่เรือไปส่งเช่นกัน สำหรับผมเคยเดินแล้วในอดีตครั้งยังเป็นเด็ก วันเวลาผ่านไปเรี่ยวแรงก็ลดลง จึงเลือก นั่งเรือเพื่อให้เวลากระชับขึ้นด้วยครับ เมื่อถึงจุดที่ต้องเดินขึ้นตัวถ้ำต้องเดินผ่าน บ่อพระยานคร บ่อน้ำที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาล เมื่อครั้งพระยานครเดินทาง และประสบพายุรุนแรง จนต้องแวะพักที่นี่ และ ได้ขุดบ่อเพื่อใช้น้ำดื่ม โดยการเดิน และ ปีน สู่ถ้ำพระยานคร นี้ จะใช้ระยะทางทั้งสิ้น 400 เมตร เส้นทางชันพอสมควร และหินเป็นหินปูน จึงควรระมัดระวัง
ในการเดินและปีนครับ เพราะหินมีความแหลมคมในบางส่วน
บริเวณ สะพานมรณะ
หลังจากใช้เวลาเดิน และ ปีนพอประมาณ ผมก็มาถึงทางเข้าถ้ำ ในบริเวณนี้จะยังไม่ใช่ ตัวโถงที่เป็นที่ตั้งของพระที่นั่ง คูหาคฤหาสน์ แต่ก็มีสิ่งน่าสนใจอย่างอื่น เช่น น้ำตกแห้ง ซึ่งเป็นหินงอกหินย้อย ที่ถูกกัดเซาะ คล้ายม่านน้ำตกที่ลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้น เมื่อเดินลงต่อมาอีกสักหน่อย ก็จะพอ กับ ปล่องถ้ำ ขนาดใหญ่ประมาณหนึ่ง ซึ่งมีสะพานหินธรรมชาติ เชื่อมกัน เหมือนทางเดิน
ตรงนี้ขนานนามกันว่า สะพานมรณะ ว่ากันว่ามีสัตว์ เดินผ่านแล้วตกลงตายบ่อยๆ
สุดท้ายเราก็จะเดินเข้าสู่ จุดที่สวยที่สุดของ ถ้ำพระยานคร ผมแอบตื่นเต้นขึ้นมาในใจ เพราะไม่ได้มาที่นี่นาน และก็นาน จนแทบจำความไม่ได้ ในขณะนั้นมีคณะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนอื่นๆ เดินนำหน้าผมเข้าไปก่อน ได้ยินเสียงอุทานกัน แตกต่างภาษา ออกมาจากความมืด เสียงแห่งความประทับใจเหล่านั้น นำพาให้ผมก้าวเท้าเดินตามเข้าไปอย่างไม่รีรอ หินงอกหินย้อย ที่เปรียบเสมือน ม่านธรรมชาติบดบังแสงที่ลอดจากโถงถ้ำด้านใน เผยให้เห็น พระที่นั่ง คูหาคฤหาสน์ ตั้งตระหง่าน รับแสงที่สาดลงจากปล่องถ้ำ งดงามราวกับ แดนสวรรค์ ที่ยังมิมีผู้ใดค้นพบ การเดินลอดช่องถ้ำช่วงสั้นๆตรงนี้ เป็นจุดที่เรียกกันว่า สันจรเข้ ด้วยเหตุที่พื้น
มีลักษณะ ตะปุ่มตะป่ำ คล้ายหลังของจรเข้ นั่นเอง
พระที่นั่ง คูหาคฤหาสน์ และ ปล่องถ้ำขนาดใหญ่ที่นำพาเอาแสงอาทิตย์ มาอาบไล้ทั้วโถงถ้ำ
เมื่อผ่านช่วง สันจรเข้เข้ามาทางเดินจะค่อยๆลดระดับลง ยิ่งทำให้เราได้เห็นแสงสาดส่องพระที่นั่ง คูหาคฤหาสน์ เด่นชัดจนเป็นลำ ราวกับ มีไฟ spotlight ส่องประดับ เพื่อเน้นให้พระที่นั่งนี้ โดดเด่นเป็นประธานของโถง สีทองของพระที่นั่งแวววาว เปล่งประกาย ไม่แปลกใจเลย ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติพากัน ชื่นชมในความงดงาม เขาเหล่านั้นอาจเคยเห็น โถงถ้ำที่ใหญ่กว่านี้ แต่ยังไม่เคยเห็น การจัดวางองค์ประกอบ ของสิ่งปลูกสร้าง ภายในถ้ำเช่นนี้แน่นอน และ ยิ่งเป็น สิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมไทย ที่อ่อนช้อยด้วยแล้ว
คงไม่สามารถหาชมที่ใดได้ในโลก
ผมใช้เวลาถ่ายรูปอย่างเพลิดเพลินจนลืมดูนาฬิกาไปเลย ภายในโถงถ้ำยังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆ อีกเล็กน้อย อาทิ หินรูปจรเข้ ที่เหมือน จรเข้ ยกหัวขึ้นเล็กน้อย ต้นไม้ที่เรียกว่า ซุ้มลอดคู่ เกิดจากต้นไม้สองต้น เติบโตและ โค้งลำต้นเข้าหากัน มีความเชื่อกันว่า หากได้ลอดซุ้ม ต้นไม้นี้ จะสมหวังในความรัก และ ต้นไม้อีกหนึ่งชนิดที่ไม่ควรพลาดคือ ต้นลังตังช้างร้อง ต้นไม้มีพิษ ที่หาชมได้ยาก … ขนาดชื่อยังบอก เลยว่าช้างยังร้อง แล้วถ้าเป็นคนได้สัมผัสคงแย่แน่ … นอกจากนี้ยังมี พระปรมาภิไธยย่อในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 แกะ สลักเอาไว้อย่างชัดเจน และ สิ่งทีน่าสนใจสุดท้ายเห็นจะเป็น จุดเก็บ
อัฐิหลวงพ่อเงิน เราสามารถกราบไหว้ ขอพรกันได้ด้วย
ในส่วนของจุดเด่นที่นี่ ซึ่งก็คือ พระที่นั่ง คูหาคฤหาสน์ นั้นเป็นพระที่นั่ง ทรงจัตรมุข ใช้เป็นที่ประทับของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์เสด็จประพาสต้น ปี พ.ศ. 2433 พระที่นั่งนี้ ออกแบบโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทำการสร้างที่กรุงเทพฯ และย้ายมาประกอบที่ภายในถ้ำนี้อีกครั้งหนึ่ง และ
นับจากครั้งนั้น พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่สืบมาจนถึงวันนี้
ในที่สุดก็ได้เวลาอันควร หลังจากผมเก็บภาพจนจุใจ ผมก็สินใจอำลาจาก ถ้ำพระยานคร เพื่อเดินทางต่อหวังว่าทุกท่าน คงจะเพลิดเพลิน ไปกับการท่องเที่ยวของผมนะครับ การเดินทางครั้งนี้ นับเป็นเส้นทางง่ายๆ ที่สามารถ เที่ยวได้ใน 1 วัน หรือ จะค้างคืนก็สะดวกครับ เพราะ ในเส้นทางนี้ มีที่พักมากมายหลายระดับราคาให้เลือก วันหยุดหากยังไม่ได้วางแผนเที่ยวที่ใด ถ้ำพระยานคร เป็นหนึ่งในตัวเลือก
ที่น่าสนใจครับ รับรองไม่ผิดหวัง สุดท้ายนี้ ผมขอลาทุกท่านไปด้วย ภาพจากจุดชมวิว ระหว่างทางเดินขึ้นสู่ถ้ำก็แล้วกันนะครับ สวัสดีครับ
แกลลอรี่ รูปภาพ
ชมภาพ ถ้ำพระยานคร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ทั้งหมด
ข้อมูลจังหวัด
+ ข้อมูล ท่องเที่ยว จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์